(เพิ่มเติม1) ผู้ว่า ธปท.คาด GDP ปี 56 โตไม่ถึง 3% แรงส่งปัจจัยบวกลดลง มองปี 57 เผชิญความท้าทายใน-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 31, 2014 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในงานสัมมนา"Thailand’s Economic Outlook 2014"ว่า เศรษฐกิจไทยปี 56 จะเติบโตไม่ถึง 3% เนื่องจากปัจจัยบวกที่เคยคาดว่าจะเข้ามาชดเชยและกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมีแรงส่งลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และการใช้จ่ายของภาครัฐล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเริ่มลดลง และได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงปลายปี 56 ที่ผ่านมา จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยช่วงครึ่งปีหลังของปี 56 ขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรกได้อย่างชัดเจน

สำหรับปี 57 ประเทศไทยนอกจากจะต้องเผชิญกับปัจจัยที่มาจากต่างประเทศที่มีความท้าทายสูง ยังต้องเผชิญกับปัญหาภายในประเทศ ในเรื่องของการเมืองยืดเยื้อ ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ส่งผลให้บทบาทของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ทำได้ไม่เต็มที่ แม้งบประมาณปี 57 จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติแต่กระบวนการจัดทำงบประมาณในปี 58 มีแนวโน้มล่าช้าออกไป ประกอบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทบางโครงการจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวจะต้องถูกเลื่อนออกไปด้วย

"แม้ว่าแรงส่งของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจจะดุไม่สดใสมากนัก แต่ยังถือได้ว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งและยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินโลกได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง"นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ดี 4 ประการ ได้แก่ 1.ไม่มีปัญหาเรื้อรังของอัตราเงินเฟ้อที่สูงหรือไม่มีปัญหาของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยมาช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างดี 2.ไทยมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่น จึงทำให้สามารถช่วยปรับสมดุลให้กับเศรษฐกิจได้และไม่ทำให้เป็นจุดสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจ

3.ประเทศไทยยังมีทุนสำรองทางการเงินอยู่ในระดับสูง และถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆเมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพี และ 4.ภาคธุรกิจเอกชนโดยรวมยังมีฐานะที่มั่นคงประกอบกับระบบสถาบันการเงินและธนาคารมีความเข้มแข็ง ซี่งได้มีการดูแลเงินกองทุนมาเผื่อไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าระบบสถาบันการเงินจะทำหน้าที่ในการหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจได้เป็นปกติ ด้วยปัจจัยทั้ง 4 ประการนี้จึงถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความแข็งแกร่งและเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งและมีบทบาทเป็นผู้นำ สามารถหยิบยกประเด็นสำคัญให้กับรัฐบาลใหม่เพื่อให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะเติบโตไปพร้อมกับการสร้างกลไกธรรมาภิบาลของประเทศ โดยในส่วนของ ธปท.ขอย้ำความมั่นใจว่า ธปท.มีเครื่องมือที่เพียงพอในการรักษาเสถีรภาพตลาดเงินและสถาบันการเงินให้เป็นกลไกเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างเหมาะสม และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านในช่วงที่มีความท้าทายไปได้ด้วยดี

นายประสาร กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ โดยยอมรับว่ามีความเป็นห่วงและหวังเช่นเดียวกับหลายฝ่ายที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงในวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.นี้ เพราะหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก ก็คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงจะมีผลต่อการจัดการงบประมาณ และงบการลงทุนต่างๆ ที่ขาดความต่อเนื่องจากการที่ยังมีรัฐบาลรักษาการ ซึ่งมีผลไปถึงโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่มีความต่อเนื่องจากโครงการลงทุนของภาครัฐด้วย ส่วนทางอ้อมนั้นจะมีผลต่อความเชื่อมั่น และการบริโภค จึงคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ไม่ถึง 3% เช่นเดียวกับปีทีผ่านมา

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) คาดว่า เศรษฐกิจปี 57 จะยังขยายตัวได้ 3% ซึ่งมีปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยภายในคือเรื่องการเมืองที่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ยังพอมีปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยไว้และถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี คือ ทุนสำรองในระดับที่เข้มแข็ง และภาคเอกชนยังมีความสามารถในการทำธุรกิจ และไม่มีปัญหาหนี้สินในระดับที่น่าวิตก

"ความเข้มแข็งของแรงส่งที่ลดลง เป็นปฏิปักษ์ต่อการเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีการเติมประชานิยมไปรื่อยๆ แรงส่งจะยิ่งอ่อนแอมากขึ้น แต่ทั้งนี้แม่แรงส่งอ่อนแอ เราก็อยู่ได้จากภูมิคุ้มกันที่ดี ภาคธุรกิจมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่บอบช้ำ มีความเข้มแข็งพอควร ภาคการธนาคาก็ผ่านวิกฤติไปแล้ว และได้เข้าสู่ระยะการสะสมความแข็งแรงไว้แล้ว" นายโฆสิต กล่าว

พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับผู้ว่าการ ธปท.ที่มองว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มอ่อนกำลังลงจากปี 56 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายประชานิยม ซึ่งถือเป็นบ่อนทำลายความเข้มแข็งทั้งในภาคของรถยนต์, หนี้สินครัวเรือน รวมทั้งตลาดข้าว โดยมองว่าเศรษฐกิจในปี 57 อยู่ในภาวะที่ลำบาก เพราะแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นแต่ตัวช่วยต่างๆ เริ่มลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทุนไหลเข้าที่ได้อานิสงค์จากที่สหรัฐใช้มาตรการ QE ในช่วงที่ผ่านมา แต่ปีนี้เริ่มทยอยลดการทำ QE ลง นอกจากนั้น ในปีนี้รัฐบาลอยู่ในสถานะรักษาการทำให้มีปัญหาเรื่องการอนุมัติโครงการลงทุนที่สำคัญต่างๆ และที่สำคัญประเทศยังต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถฝ่าฝันสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ดี และหากประเทศไทยได้ผ่านในจุดของความยุ่งเหยิงทางการเมืองไปได้แล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ก็ควรจะลดการแข่งขันในเรื่องของนโยบายประชานิยม, การดำเนินการแก้ปัญหาคอรัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าทำได้เชื่อว่าอนาคตของประเทศไทยจะสดใสอย่างแน่นอน

"ถ้าเราผ่านไปได้ ผมมั่นใจว่าอนาคตของไทยจะสดใส...ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่านานแค่ไหน แต่ความหวังว่าจะผ่านไปได้นี้ ถือเป็นอีกครั้งที่จะต้องเปลี่ยนผ่าน ถ้าเปลี่ยนได้และผ่านได้ ประเทศไทยจะเข้มแข็งอีกมาก" นายโฆสิต ระบุ

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้เพียง 2.8% แต่ทั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องมีรัฐบาลภายในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเชื่อว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะโตได้เพียง 0.6% เท่านั้น ขณะนี้ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 5% ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคที่เริ่มขับเคลื่อนได้ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าปีนี้ส่งออกจะโตได้ 4% ขณะที่การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน อาจโตได้เพียง 1% เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ