พาณิชย์เผยแนวโน้มส่งออกไก่สดไปญี่ปุ่นสดใส, แนะผู้ส่งออกเพิ่มศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 3, 2014 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณานโยบายเกษตรของญี่ปุ่นมีมติรับรองสถานะปลอดไข้หวัดนกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.56 และญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งไก่สดไปญี่ปุ่นได้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.56 เป็นต้นไป ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์และมีความพร้อมที่จะส่งออกแล้วจำนวนกว่า 100 ราย ทั้งนี้คาดว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่ไปตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นราว 1 แสนตัน มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท
"การเปิดตลาดไก่สดของญี่ปุ่นถือเป็นข่าวดีมากสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเคยเป็นตลาดส่งออกไก่สดอันดับ 1 ของไทย โดยช่วงก่อนการระบาดของโรคไข้หวัดนก(ปี 2542-2546) ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 30 และแม้ว่าปัจจุบันบราซิลจะครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 90 แต่จุดแข็งของไทยคือคุณภาพการส่งออกไก่สด โดยเฉพาะในเรื่องฝีมือการตัดแต่งชิ้นส่วน สามารถผลิตได้ตรงตามความต้องการของผู้นำเข้า ทำให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นพอใจการตัดแต่งไก่สดของไทย" นายสุรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ไทยยังมีความได้เปรียบด้านการขนส่งที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่น ทำให้มั่นใจว่าไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดไก่สดในตลาดญี่ปุ่นได้ ซึ่งข้อดีของตลาดญี่ปุ่นคือไม่มีการกำหนดโควตานำเข้า ขณะที่สหภาพยุโรปมีโควตานำเข้า ซึ่งการเปิดตลาดไก่ให้ไทยของญี่ปุ่นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในการเปิดตลาดไก่สดให้ไทยในอนาคตอันใกล้ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศมีแผนจะเร่งผลักดันการเปิดตลาดนำเข้าไก่สดไทยของเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด

โดยในปี 55 ไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์รวม 560,653 ตัน มูลค่า 69,726 ล้านบาท และในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.56 ไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์รวม 502,802 ตัน มูลค่า 64,497 ล้านบาท ปริมาณลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.78 ขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 โดยปริมาณการส่งออกไก่สดของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.19 ขณะที่ปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปลดลงเล็กน้อยร้อยละ 7.48 ตลาดส่งออกไก่สดที่สำคัญของไทยปี 2556 คือ สหภาพยุโรป(สัดส่วนร้อยละ 42) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สัดส่วนร้อยละ 37) ส่วนตลาดส่งออกไก่แปรรูปที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น(สัดส่วนร้อยละ 48) และสหภาพยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 42)

สำหรับปี 57 คาดว่าการส่งออกสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2555-2556 โดยเฉลี่ยที่ 550,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 650,000 ตัน และมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการส่งออกและขยายตลาดสินค้าไก่แปรรูปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในระดับสูงจากผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นและตลาดโลก รวมทั้งควรสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่สินค้าไก่แปรรูปของไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของไทยในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ