รายงานประชุม กนง.ระบุความเสี่ยงศก.เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่ชัดเจนการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 5, 2014 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 22 ม.ค.57 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ เห็นสอดคล้องกันว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก กรรมการบางท่านเห็นว่าปัญหาความไม่สงบทางการเมืองอาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งในส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อออกไปก็อาจส่งผลให้ลูกค้าต่างประเทศบางรายพิจารณากระจายคำสั่งซื้อสินค้าไปยังประเทศอื่นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศในระยะต่อไป

นอกจากนี้ กรรมการได้อภิปรายถึงผลของค่าเงินบาทที่อ่อนลงในระยะหลัง ซึ่งอาจช่วยพยุงภาคการส่งออกได้บ้างโดยเฉพาะผ่านทางการเพิ่มรายได้ในรูปเงินบาท โดยกรรมการหลายท่านเห็นประโยชน์ของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังมีความเปราะบาง

กนง.ประเมินสอดคล้องกันว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้จากการประชุมครั้งก่อน โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นชัดเจนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงระยะสั้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ ขณะเดียวกัน การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ กรรมการ 4 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี เนื่องจากนโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีความผ่อนคลายและสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ สะท้อนจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่อยู่ในระดับติดลบเล็กน้อย ขณะที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมคงไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคได้นักในบริบทปัจจุบันที่อุปสรรคสำคัญต่อการใช้จ่ายภาคเอกชนมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในภาวะเช่นนี้ อาจมีผลเพียงช่วยสนับสนุนราคาสินทรัพย์ในตลาดเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองมีพัฒนาการรายวันที่รวดเร็ว คณะกรรมการฯ จึงควรรักษา Policy Space โดยยังสามารถรอดูสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนก่อน และ ในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ทั้งจากการทยอยถอนมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ นโยบายการเงินควรให้น้ำหนักมากขึ้นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน อันจะเป็นพื้นฐานให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปมีความมั่นคง

ส่วนกรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินสามารถมีบทบาทช่วยพยุงความเชื่อมั่นภาคเอกชน และประคับประคองเศรษฐกิจในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนอย่างชัดเจน ขณะที่ความเสี่ยงของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีไม่มากนัก จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ สะท้อนจาก สินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ และ เงินสำรองทางการระหว่างประเทศที่ยังเพียงพอรองรับการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ขณะที่ในระยะยาวนักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่อยู่ ดังนั้น นโยบายการเงินจึงสามารถให้น้ำหนักกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้

กนง.เห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 57 จากเดิมที่ประมาณร้อยละ 4 เป็นประมาณร้อยละ 3 สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ในประเทศและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ