"ประเด็นความเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารราชการได้อย่างเต็มที่ภายในครึ่งปีแรก อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้เพียง 2.4% เท่านั้น" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ
สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ประเมินว่ามาจากการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ 6% ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องมาจากปี 2556 โดยความไม่สงบทางการเมืองได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) การลงทุนภาครัฐ ที่มีโอกาสล่าช้าทั้งในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนและการลงทุนนอกงบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ 2) ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยภาคธุรกิจต่างๆมีความระมัดระวังในการวางแผนการลงทุนมากขึ้น และผู้บริโภคมีแนวโน้มเลื่อนการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงออกไป เช่น บ้านและรถยนต์ และ 3) ความมั่นใจจากต่างชาติ ซึ่งจะมีผลอย่างชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยว และอาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนโดยฉับพลัน
สำหรับค่าเงินบาท อีไอซีคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 32-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2557 โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาท และค่าเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีตามสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลง และดุลการค้าที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออก
อย่างไรก็ตาม การชะลอมาตรการ QE และภาวะเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทตลอดทั้งปี ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันจะได้สะท้อนปัจจัยนี้มาบ้างแล้วก็ตาม
และคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะลดลงไปอยู่ที่ 1.75% ภายในช่วงครึ่งปีแรกเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจไทยขาดแรงกระตุ้นทางการคลังและมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาวะเงินทุนไหลออกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง.ไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้มากนัก
ส่วนการลดทอนการเข้าซื้อสินทรัพย์รายเดือนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (QE) ที่ได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2557 เปรียบเสมือนการสิ้นสุดภาวะสภาพคล่องส่วนเกินของโลก และเป็นสัญญาณการเริ่มปรับนโยบายการเงินสหรัฐฯ จากระดับผ่อนคลายเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติ ซึ่งจะมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมเงินระยะยาวของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆผ่านตลาดตราสารหนี้ และ 2) การไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อนักลงทุนในภาวะที่ค่าเงินบาทมีความอ่อนไหวค่อนข้างมากจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง แตกต่างจากประเทศที่ประสบปัญหาอย่างเช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย หรือตุรกีอย่างชัดเจน