ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดโรดแมพแก้ปัญหาอุตฯประมงอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 6, 2014 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้จัดทำแผนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา (Roadmap) อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. เพื่อนำไปสู่การประกาศเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan)และนำไปใช้จริงในเดือนส.ค.ปีนี้ โดยจะมีการกำหนดกรอบ แนวทางและกิจกรรม การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในอุตสาหกรรมประมงทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการประมงอย่างยั่งยืนภายใน 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ สมาคมฯได้มีการประสานความร่วมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund หรือ WWF) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการประมงที่ยั่งยืน (Sustainable Fisheries Partnership หรือ SFP) เพื่อให้ร่างแผนการดำเนินการของประเทศมีกรอบ แผนพัฒนาและแนวทางปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยทั้ง 2 องค์กร จะมีการนำเสนอแผนพัฒนาโดยใช้มาตรฐานของโครงการปรับปรุงการประมง (Fishery Improvement Project หรือ FIP) เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้ และจะมีการนำร่างดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันกับทุกภาคส่วน (ภาครัฐ เอกชน และNGO) เพื่อประเมินสถานการณ์ประมงเทียบกับมาตรฐานความยั่งยืนการประมง เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขในเดือนเม.ย. หลังจากนั้นจะจัดทำเป็นแผนการทำงานและประกาศเป็นแผนปฏิบัติการได้ตามเป้าหมายในเดือนก.ค.

อนึ่ง การจัดทำแผนการดำเนินการดังกล่าว เป็นความร่วมมือของ 8 สมาคมประมงที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

นายพรศิลป์ กล่าวว่า สมาคมฯเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนงานได้ภายในเดือนส.ค.ปีนี้ และจะมีการตรวจติดตามความคืบหน้าและสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการทำประมงอย่างยั่งยืนในอีก 5 ปีข้างหน้า

นายพรศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองแตกแยกในประเทศไทยขณะนี้ เป็นแรงกดดันให้ภาคเอกชนต้องปรับแผนธุรกิจและมีการพัฒนามากกว่าปกติ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น อุตสาหกรรมการประมงก็เป็นหนึ่งที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานสากลมารองรับ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ