ธปท.คาด GDP H1/57 ขยายตัวต่ำ,รับ NPL เพิ่มหลังศก.ชะลอ แต่ยังไม่น่าห่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 7, 2014 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จาก 4% เหลือประมาณ 3% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปีน่าจะยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ และยอมรับในภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ชะลอตัว อาจจะทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เพิ่มขึ้นบ้าง แต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ และยังไม่ได้ทำให้ ธปท.ถึงกับเป็นกังวล

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือน จากไตรมาส 3/56 อยู่ที่ 80.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เพิ่มขึ้นจาก 79.2% ของจีดีพีในไตรมาส 2/56 ก็เพราะแม้สินเชื่อที่ให้กับครัวเรือนชะลอการเติบโตลงมาแล้ว แต่ยังขยายตัวสูงกว่าจีดีพี ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนจะยังขยายตัวสูงกว่าจีดีพี ในไตรมาส 4 ต่อเนื่องถึงต้นปี 57 และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก และธปท.ก็ยังติดตามอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม NPL ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้มีความระมัดระวัง เช่น ครัวเรือนแสดงความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยกู้อย่างรอบคอบ ธนาคารพาณิชย์ยังคงประคับประคองลูกค้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งจะเน้นการให้ความช่วยเหลือให้พอไปได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีฐานะมั่นคง และมีการกันสำรองไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนการคาดการณ์และเตรียมการของธนาคารพาณิชย์ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่า ธนาคารพาณิชย์จะทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินให้ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจชะลอตัว

กรณีที่มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำลงมาก เป็นสัญญาณอันตรายที่เข้าข่ายภาวะเงินฝืดนั้น ในความเป็นจริงอัตราเงินเฟ้อของไทยไม่ได้ต่ำลง แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.67% ในเดือน ธ.ค.56 เป็นร้อยละ 1.93% ในเดือน ม.ค.57 ส่วนหนึ่งจากการส่งผ่านต้นทุน เช่น การปรับราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีโดยรวมถือว่าเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

นางรุ่ง กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดมีน้อยมาก เพราะราคาต้นทุนยังเพิ่มขึ้นแม้อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เห็นได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนม.ค.57 ที่สูงขึ้น 1.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ บางส่วนจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพราะการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา จะต้องถูกส่งผ่านไปยังราคาผู้บริโภคในที่สุด

จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ผู้ตั้งราคา"ในระบบเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่คาดว่าต้นทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา อัตราใกล้เคียงกับในทุกเดือนของปี 56 นอกจากนั้นผู้ประกอบการเห็นว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะต่ำกว่าที่เคยคาดไว้บ้าง แต่ก็ยังเป็นบวก โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเงินเฟ้อจะอยู่ประมาณ 3-4% การที่ผู้ตั้งราคามีต้นทุนเพิ่มและคิดว่าระดับราคาโดยรวมจะเพิ่ม แปลว่าตนเองคงตั้งราคาขายสินค้าสูงขึ้นบ้างเช่นกัน ดังนั้น ปรากฎการณ์ราคาสินค้าลดลงเป็นวงกว้าง หรือเงินฝืดจะเกิดขึ้นได้ยาก

นอกจากนี้ สำนักวิจัยต่างๆ รวมถึง ธปท.พยากรณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 57 เป็นบวก ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 2-3% ซึ่งถือว่าเห็นภาพตรงกัน ด้วยเหตุนี้ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะต่ำติดลบมีน้อยมาก ขณะเดียวกันเงินเฟ้อก็ไม่น่าจะเร่งตัวเกินกรอบเป้าหมายนโยบาย เพราะแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ยังมีไม่มาก ดังนั้นการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้เพิ่มมาก น่าจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนกรณีที่กังวลถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะผลกระทบต่อการออมนั้น ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ชัดเจน ทั้งนี้ในระดับมหภาคอัตราการออมของภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในเชิงพฤติกรรมเห็นผู้ออมบางส่วนบริหารเงินแบบ active ขึ้น เช่น แสวงหาสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น อาทิ ทองคำ ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าทองคำสุทธิของไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยในการตัดสินใจนโยบายการเงิน กนง.พิจารณาประเด็นรอบด้าน ซึ่งรวมถึงการชั่งน้ำหนักผลกระทบต่อคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงผู้ออมด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้าย และค่าเงินบาทหลังการเลือกตั้งถือว่ายังอยู่ในภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบเรื่องการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ล่าช้านั้นคงต้องรอความชัดเจนมากกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ