ดังนั้น ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ราคา LPG ภาคครัวเรือนจะอยู่ที่ 21.63 บาท/กก. ซึ่งจะสูงกว่า LPG ภาคขนส่งซึ่งอยู่ที่ 21.38 บาท/กก. ต่างจากเป้าหมายเดิมกำหนดให้ราคา LPG ภาคครัวเรือนเท่ากับภาคขนส่ง แล้วก็จะต้องขยับไปพร้อม ๆ กันเพื่อสู่เป้าหมายต้นทุนหน้าโรงกลั่นที่ 24.83 บาท/กก.
ทั้งนี้ สนพ. มีความเป็นห่วงว่าหากราคา LPG ของทั้ง 2 ตลาดต่างกันมากจะเกิดปัญหาการลักลอบการใช้ข้ามกลุ่มได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีกระทบต่อโครงสร้างการปรับขึ้นราคา LPG ทั้งระบบ ดังนั้น หากมีสัญญาณการลักลอบของ 2 ตลาดที่รุนแรง กระทรวงพลังงานมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นขอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาแนวทางปรับราคาอีกครั้งหากการเมืองไทยยังอยู่ในภาวะสูญญากาศ หรือ อาจจะหารือกับบมจ. ปตท. (PTT) ให้เข้ามาช่วยเหลือก่อน
สำหรับนโยบายการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และต้องรอเข้า กพช. เช่นกัน เบื้องต้นการจำหน่ายอาจแยกราคาตามค่าความร้อน แยกตามกลุ่มผู้ใช้ และจะเพิ่มทางเลือกการใช้ NGV ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เนื่องจากมีคุณสมบัติวิ่งได้ระยะทางไกลกว่า NGV แม้ราคาจะสูงกว่า แต่การใช้ LNG จะทำให้ไม่ต้องขยายสถานีบริการ (ปั๊ม) NGV มากนัก
ผู้อำนวยการ สนพ. บอกด้วยว่า ภายหลังจากกระทรวงพลังงานได้ ปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือน ไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2556 เป็นต้นมา โดยภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยทั้งครัวเรือน ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารประมาณ 7 ล้าน 7 แสนครัวเรือนให้ได้ซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม ซึ่งพบว่าในช่วง 4 เดือนที่เริ่มปรับราคาจนถึงเดือนมกราคม ปีนี้ (57) พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 3 แสนครัวเรือน