ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย 3 ด้าน คือ 1.หนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง 2.ความล่าช้าในการดำเนินโครงการของภาครัฐ และ 3.ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวที่อาจจะลดลง ตลอดจนทำให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และการให้ความสำคัญกับนโยบายในการพัฒนาประเทศในระยะยาวก็น้อยลงตามไปด้วย
สำหรับระยะยาว ธนาคารโลกเห็นว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกระจายการใช้จ่ายของภาครัฐให้ทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง โดยการมุ่งดำเนินนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐในภูมิภาค นอกจากนี้ควรปรับปรุงการกระจายรายได้ เพื่อลดการควบคุมจากหน่วยงานส่วนกลาง หรือให้มีการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก และเพิ่มความรับผิดชอบในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น
น.ส.กิริฎา ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 56 โดยระบุว่า ธนาคารโลกมองว่า GDP ของไทยในปี 56 ที่ผ่านมาเติบโตได้ 3% เนื่องจากการส่งออก การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลง ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเติบโตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับปี 55 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว แต่ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี 56 ที่ผ่านมา