ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย 3 ด้าน คือ 1.หนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง 2.ความล่าช้าในการดำเนินโครงการของภาครัฐ และ 3.ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวที่อาจจะลดลง ตลอดจนทำให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และการให้ความสำคัญกับนโยบายในการพัฒนาประเทศในระยะยาวก็น้อยลงตามไปด้วย
สำหรับระยะยาว ธนาคารโลกเห็นว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกระจายการใช้จ่ายของภาครัฐให้ทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง โดยการมุ่งดำเนินนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐในภูมิภาค นอกจากนี้ควรปรับปรุงการกระจายรายได้ เพื่อลดการควบคุมจากหน่วยงานส่วนกลาง หรือให้มีการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก และเพิ่มความรับผิดชอบในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น
น.ส.กิริฎา ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 56 โดยระบุว่า ธนาคารโลกมองว่า GDP ของไทยในปี 56 ที่ผ่านมาเติบโตได้ 3% เนื่องจากการส่งออก การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลง ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเติบโตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับปี 55 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว แต่ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี 56 ที่ผ่านมา
ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขึ้นกับการบริโภคภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะเติบโตแค่ 1.8% การลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% ประกอบกับการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 10% แต่ก็ขึ้นกับว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน
"ยอมรับว่าหากการชุมนุมยืดเยื้อ ย่อมจะส่งผลกรนะทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 4% ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะยืดเยื้อแค่ไหนต่อไป เพราะขึ้นกับว่าถ้าการเมืองยืดเยื้อก็คงจะส่งผลกระทบให้มีการปรับประมาณการอีกครั้ง" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธ.โลก กล่าว
ทั้งนี้ การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่ 4% แม้แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลง ประกอบกับมีผลกระทบทางกรเมืองที่ทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอลงไปด้วย แต่ยืนยันว่าโอกาสที่ไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นต่ำมาก เพราะประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิตไทยจะมีแรงส่งจากการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 5% เห็นได้จากการขอรับใบส่งเสริมการลงทุนจากคระกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ได้รับอนุญาตแล้วสูงเกือบเท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณว่านักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย แสดงว่าผลกระทบทางการเมืองในกรุงเทพฯ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากการชุมนุมอยู่ในวงจำกัด เบื้องต้นส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวในระยะชั่วคราวเท่านั้น
ดังนั้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าการเมืองจะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน เพียงแต่เวิลด์แบงก์ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้น่าจะเติบโตต่ำกว่าครึ่งหลัง แต่โดยรวมทั้งปีอยู่ที่ 4%
ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเวิลด์แบงก์มองโลกในแง่ดีเกินไปนั้น ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีรัฐบาลรักษาการนานแค่ไหน และจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อใด ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ ส่วนโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้ ประเมินว่าการใช้จ่ายและการบริโภคภาคครัวเรือนโดยเฉพาะในไตรมาส 4/56 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 1.3% ผลพวงจากการที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ประกอบกับฐานในช่วงเดียวกันของปี 55 อยู่ในระดับสูง ที่ผ่านมาเวิลด์แบงก์เคยประเมินตัวเลขว่าโครงการรับจำนำในฤดูกาลผลิตปี 56 จะขาดทุนราว 2 แสนล้านบาท