นิด้าแนะรัฐบาลคืนข้าวชาวนา 1.5 เท่า เปลี่ยนความเป็นเจ้าของ-ยุติกู้เงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 11, 2014 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอแก้วิกฤตความเดือดร้อนแสนสาหัสของชาวนาในขณะนี้ โดยการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่านั้น หมายถึงการคืนข้าวในเชิงมูลค่า 1.5 เท่าของมูลค่าที่ชาวนาได้จำนำไว้

ข้อเสนอนี้ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ หลักการแรก เป็นการช่วยเหลือชาวนาบนพื้นฐานเดียวกันกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะโครงการจำนำข้าวนั้น รัฐบาลรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 50% เพราะฉะนั้นเพื่อให้ชาวนาได้รับผลตอบแทนประมาณเท่ากันกับชาวนาอื่นๆ ที่ได้รับเงินไปแล้ว การคืนข้าวให้ชาวนาก็ต้องคืนข้าวในมูลค่าเดิมตามที่ชาวนาเอามาจำนำไว้แล้วกับรัฐบาล โดยบวกเพิ่มข้าวไปอีกคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 50% เมื่อชาวนาเอาข้าวทั้งหมดไปขายตามราคาตลาดปกติก็น่าจะได้เงินกลับมาประมาณใกล้เคียงกับชาวนาก่อนหน้านี้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วรับเงินไปในราคาประมาณตันละ 12,000-13,000 บาท

หลักการที่สอง คือการคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการเปลี่ยนสภาพความเป็นเจ้าของข้าว จากที่ปัจจุบันรัฐบาลเป็นเจ้าของข้าว แต่ฝากเก็บไว้ในโกดังของโรงสี กลายเป็นชาวนาเป็นเจ้าของข้าวเองแต่ก็ยังฝากเก็บไว้ในโกดังของโรงสีเช่นเดิม การกระทำเช่นนี้เป็นการพลิกผันที่สำคัญเพราะจะทำให้อำนาจการสั่งซื้อสั่งขายข้าวหลุดพ้นจากบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวมาโดยตลอด แล้วกลับมาอยู่ภายใต้กลไกตลาดเช่นเดิม ซึ่งจะสามารถระบายข้าวได้ดีกว่ารัฐบาลทำ

"การคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า จึงแทบเป็นทางออกเดียวที่ทำได้ในขณะนี้ เพราะแนวทางอื่นนั้นเป็นการเดินเข้าสู่ทางตันทั้งสิ้น" นายอดิศร์ กล่าว

พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนาที่ผ่านมานั้นเน้นกลไกทางการเงินเป็นหลัก โดยพ่อมดทางการเงินทั้งหลายพยายามหาวิธีหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาให้ได้ แต่การพลิกแพลงวิธีการทางการเงินล้วนประสบปัญหาทั้งสิ้น อาทิ ติดกรอบเพดานวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทเดิม ทำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีกไม่ได้ ตลอดจนจากการเป็นรัฐบาลรักษาการไม่สามารถสร้างภาระหนี้ผูกพันเพิ่มเติมได้ และมีความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะยังคงดำเนินนโยบายจำนำข้าวอยู่ต่อหรือไม่"

จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ และนำไปสู่ปัญหาการที่ไม่มีสถาบันการเงินใดประสงค์เข้าร่วมวิบากกรรมกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า เช่น หากสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.แล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้จะได้เงินคืนหรือไม่ เพราะสัญญาเงินกู้นั้นอาจถูกศาลตีความเป็นโมฆะ เพราะเป็นการทำสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการให้โรงสีรับจำนำใบประทวนในอัตราร้อยละ 50 แล้วรัฐบาลจะมาชำระเงินคืนให้ภายหลังก็เป็นเงื่อนไขที่ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีรัฐบาลใหม่ที่จะมาชำระหนี้ให้ แล้วดอกเบี้ยงวดต่อไปใครจะรับผิดชอบหากต้องรอไปนานเป็นปี

"ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์แทบจะหมดหนทางจริงๆ ในการจ่ายเงินให้ชาวนา แต่ภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินทั้งหลาย เราลืมไปแล้วหรือ ว่ารัฐบาลยังเหลือทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลสามารถนำมาแปรสภาพให้เป็นทุนได้ และสามารถนำเงินไปชำระให้ชาวนาได้นั่นคือข้าวในสต๊อกจำนวน 17 ล้านตันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์รับจำนำจากชาวนาเอาไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาและยังระบายไม่หมด" นายอดิศร์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากลไกของรัฐไม่สามารถระบายข้าวได้เร็วพอ การขายข้าวโดยกลไกของกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวได้ไม่กี่แสนตันต่อเดือน ซึ่งต้องใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะขายข้าวได้หมด และการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐก็ไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นกลไกของรัฐในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนคงจะไม่ประสบความสำเร็จ

"ดังนั้นรัฐบาลควรวางมือจากการเป็นผู้ขายข้าวได้แล้ว และปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ระบายข้าวแทน แต่ก่อนที่กลไกตลาดจะทำหน้าที่ระบายข้าวได้นั้น สถานะความเป็นเจ้าของข้าวจะต้องเปลี่ยนจากข้าวของรัฐบาลมาเป็นข้าวของชาวนาก่อน เพื่อให้โรงสีสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้โดยตรง" นายอดิศร์ กล่าว

ทั้งนี้ การคืนข้าวให้ชาวนาเป็นเพียงแค่เปลี่ยนความเป็นเจ้าของข้าวจากรัฐบาลมาเป็นชาวนา ไม่ได้หมายความว่าให้โรงสีขนข้าวออกมาจากโกดังเป็นกระสอบๆ แล้วมาคืนให้ชาวนา ประเด็นที่สำคัญ คือ ถ้าชาวนานำข้าวไปจำนำไว้ 10 ตัน ก็จะได้ข้าว 10 ตันเดิมคืนและบวกอีก 5 ตันที่รัฐบาลจะเพิ่มเติมให้รวมทั้งสิ้นเป็น 15 ตันที่รัฐบาลคืนทั้งหมด หลังจากนั้นชาวนาก็สามารถขายข้าวให้โรงสีได้ในราคาตลาดปกติ เช่น ขายข้าวเปลือกให้โรงสีประมาณตันละ 8,000-9,000 บาท หลังจากนั้นโรงสีก็สามารถขายข้าวให้ผู้ส่งออกข้าวได้ต่อไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วชาวนาก็จะได้ราคาขายทั้งหมดใกล้เคียงกับมูลค่าที่เคยจำนำไว้

นายอดิศร์ ย้ำว่า การคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการระบายข้าวที่เร็วที่สุด ทำให้สต๊อกข้าวของรัฐบาลลดลงอย่างเร็ว จึงเป็นการตัดโอกาสในการทุจริตเวียนข้าว ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการจ้างโรงสีเก็บข้าว ทำให้คุณภาพข้าวไม่แย่ลงไปมากกว่านี้ และการคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการใช้ทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลยังมีอยู่ ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ต้องไปติดกับดักของกลไกทางการเงินต่างๆ ไม่เป็นการสร้างภาระผูกพันไปยังรัฐบาลในอนาคต และไม่เป็นการผลักภาระให้สถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงิน

"การคืนข้าวให้ชาวนา จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะปรับกลไกตลาดในการค้าขายข้าวสู่ภาวะปกติและนำไปสู่การส่งออกข่าวอย่างแท้จริง และท้ายที่สุดจะเป็นการล้างสต็อคข้าวของรัฐบาลและปิดฉากโครงการจำนำข้าวอย่างสิ้นเชิง" นายอดิศร์ กล่าว

แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ