วงเสวนาสับจำนำข้าวทำวินัยการคลังล้มเหลว แนะรัฐเร่งระบายข้าวจ่ายชาวนา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 11, 2014 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีการเสวนาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ วุฒิสภา เรื่อง"ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญและรักษาวินัยการเงินการคลัง"ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลทำให้เกิดปัญหาใหญ่ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนามูลค่า 1.3 แสนล้านบาท และ โครงการดังกล่าวทำให้วินัยทางการคลังล้มเหลว

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวมีการทุจริตคอรัปชั่นตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่มวลมหาประชาชนสามารถทะลุได้ มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร ทุกอย่างมีใบเสร็จ แต่ไม่มีการทำบัญชี และรัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดข้อมูล และตัวเลข

"ซึ่งตัวเลขต่างๆอยู่ในถ้ำที่มืดมิด ต้องเอาไฟฉายส่อง หากจะเอาไฟฉายติดตัวเข้าไปในถ้ำก็ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าใหญ่นายโตก่อน"นายอัมมาร์ กล่าว

ดังนั้น การใชัจ่ายของโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่สามารถรับรู้ตัวเลขการใช้จ่ายว่าใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่แล้ว จึงต้องแก้ไขช่องโหว่ ที่ทำลายวินัยการเงินการคลังอย่างรุนแรง

"นโยบายประชานิยมไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด แต่ต้องทำให้เป็นประชานิยมที่ต้องมีการคิด พร้อมชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น การใช้ประชานิยมแบบง่ายๆ ทำไม่ได้ เพราะทำไปแล้วอาจทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ทั้งนี้ต้องหาวิธีการแก้ไขในระยะยาว โดยต้องแก้ไขการกู้เงินนอกงบประมา ที่เกินขอบข่าย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ซึ่งทำให้เกิดช่องโหว่กับระบอบวินัยทางการคลัง"นายอัมมาร์ แนะ

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จ่ายหนี้ชาวนา รัฐบาลต้องเร่งขายข้าวที่เข้าโครงการก่อนยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.56 ไม่ขัด รธน. 181 เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องอนุมัติไว้ก่อน แต่ในระยะยาวต้องปฏิรูปวินัยการเงินการคลัง นำกระบวนการใช้เงินนอกงบประมาณมาผ่านกระบวนการพิจารณาอนุมัติผ่านกระบวนการสภาฯ

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้เงินมากที่สุด และเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนจำนวนมากที่สุด มีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งทางบวกและลบ ทางบวก คือ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักเม็ดเงินลงไปสู่ประชาชน ช่วงปีแรกของโครงการทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโต ส่วนทางลบ คือ โครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวที่ฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำ และ เป็นโครงการที่สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับชาวนา การจะเข้าไปช่วยเหลือชาวนาต้องไม่สร้างปัญหากับชาวนา เพียงเพราะต้องการประชานิยม

ในปี 2554 กระทรวงการคลัง เสนอ ครม. ให้กำหนดวงเงินจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท เป็นวงเงินหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้ กระทรวงพาณิชย์เร่งขายข้าวป้องกันข้าวเสื่อมคุณภาพ แต่ที่ผ่านมา 2 ปี กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้คิดเป็นมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนใช้ในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้มีชาวนาที่ไม่ได้รับเงินกว่า 1 ล้านราย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้ทำหนังสือถึง ครม. เสนอวงเงินใหม่ 2.7 แสนล้านบาท และบางส่วนจะใช้จากการขายข้าว บางส่วนจะใช้จากเงินกู้ใหม่ หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภา 9 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังยังไม่ได้เสนอ ครม. อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามหาเงินเพื่อจะจ่ายเงินให้กับชาวนา โดยกระทรวงการคลังได้ประกาศการกู้เงินสัปดาห์ละ 2 หมื่นล้านบาท โดยเรียกให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆเข้ายื่นประมูล แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีอำนาจในการกู้เงินดังกล่าวหรือไม่ทำให้การประมูลล้มเหลว สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ รัฐบาลต้องระบายข้าวเดือนละ 2 ล้านตัน และไม่ใช่การขายข้าวแบบจีทูจี ปลอมๆ หรือขายข้าวครั้งละหมื่นตัน หรือ แสนตัน การขายข้าวแบบล็อตใหญ่ จะต้องมีการสำรวจแบบระเอียดหากข้าวเสื่อมคุณภาพก็ต้องยอมรับความจริง หากข้าวหายไปก็ต้องดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขายข้าวแบบล็อตใหญ่จะทำให้ลดค่าดำเนินการลง หรือคืนข้าวให้กับชาวนาแต่ต้องคืนให้ 1.5 เท่า เพื่อให้ชาวนาไปดำเนินการค้าขายเอง และรัฐบาลรักษาการควรลาออก เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารงาน

ส่วนนางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า การรับจำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด ถือเป็นทฤษฎีที่ผิด ซึ่งวันนี้เราได้เห็นถึงปัญหาของโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต และขาดวินัยการคลังที่เสียลงนับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด และเมื่อยิ่งฝืนต่อก่อให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น

การดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หรือ โครงการประชานิยมต่างๆ ควรจะมีกรอบการบริหารที่ชัดเจน จากการอนุมัติของฝ่ายบริหาร ควรเข้าสู่ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือเงินอุดหนุน ดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบของกฎหมายผ่านกระบวนการของสภา เพื่อให้สภารับทราบ แม้จะมีกระบวนการทางการเมืองหรือกลุ่มผลการเมืองเข้ามาเกี่ยว แต่มองว่า จะเกิดผลดีกว่าฝ่ายบริหารที่อนุมัติงบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันมีข้อจำกัดในการหาเงินมาใช้หนี้ชาวนา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งทางออกที่รัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คือ การลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งโดยกฎหมาย

ขณะนี้ความหวังอยู่ที่การชี้ขาดของ กกต. ว่าจะใหัใบแดงนายกรัฐมนตรีได้เร็วเพียงใด จากกรณีข้อร้องเรียนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ที่จะทำให้นายกรัฐมตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ขาดคุณสมบัติทันที เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลที่มาจากคนกลาง เข้ามาแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นขณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากคนกลาง จะไม่มีข้อติดขัดในเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เป็นรัฐบาลที่สังคมยอมรับ และจะไม่มีความยึดติดกับโครงการรับจำนำขัว ทำให้สามารถเข้ามาแก้ปัญหา โดยการเร่งขายข้าวและหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาได้รวดเร็วขึ้น

รวมทั้ง รัฐบาลที่มาจากคนกลาง จะสามารถเข้ามาดำเนินนโยบายใหม่ทันฤดูกาลผลิตที่จะมาถึง และในระยะยาวจะต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ การจำกัดจำนวนผลผลิตข้าว การกำหนดเป้าหมายในการช่วยเหลือเฉพาะชาวนารายเล็กเท่านั้น ซึ่งจะสามารถช่วยรักษาวินัยการเงินการคลังได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ