วันนี้คาดว่าเงินบาทจะแกว่งอยู่ในกรอบแคบ โดยปัจจัยสำคัญที่ติดตามวันนี้ คือรอดูว่าศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนปัจจัยต่างประเทศต้องติดตามการประกาศตัวเลขดุลการค้าของจีนเดือนม.ค.และคำแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB)
"เงินบาทวันนี้น่าจะแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆ ปัจจัยสำคัญที่ Impact น่าจะเป็นการประกาศตัวเลข Trade balance ของจีน รวมทั้งแถลงการณ์ของ ECB เรื่องภาวะเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ ศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่" นักบริหารเงิน ระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.65-32.80 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.54 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ 102.42/44 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3633 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.3670/3672 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 32.8000 บาท/ดอลลาร์
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ส่งหนังสือยืนยันไปยังตัวแทนผู้จำหน่ายพันธบัตรจาก สถาบันการเงินและนักลงทุน ว่า ขณะนี้ สบน.ยังคงแผนการออกพันธบัตรอายุ 3 ปี สำหรับให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเดือน มี.ค. วงเงิน 18,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ สบน.เคยแจ้งมายังสถาบันการเงินว่าจะยังไม่กู้เงินก้อนดังกล่าว
- นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีมติเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN CIS) ให้แก่ผู้ลงทุนไทยทั่วไปได้แล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้
- นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนทั้งระบบ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากขยะ, พลังงานชีวมวล, พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์, การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเลี้ยงช้าง (เนเปียร์) ที่เป็นการลงทุนใหม่ ต้องชะงักงันและถูกชลอออกไปจนกว่าปัญหาการเมืองจะยุติลง ล่าสุดจากการหารือกับเอกชนพบว่า สถาบันการเงินเริ่มส่งสัญญาณในการเข้มงวดการปล่อยกู้กับกิจการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยระบุเหตุผลว่า ไม่มั่นใจความเสี่ยงจากปัญหาการเมือง
- ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบเยนเมื่อคืนนี้(11 ก.พ.) เนื่องจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ในการแถลงนโยบายการเงินครั้งแรกต่อสภาคองเกรส
โดยนางเยลเลน ให้คำมั่นที่จะยังคงสานต่อนโยบายของนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ด้วยการปรับลดโครงการซื้อพันธบัตรอย่างระมัดระวัง ซึ่งเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะนำไปสู่การลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนดอลลาร์
- สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีมติด้วยคะแนนเสียง 221 ต่อ 201 ผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการกู้ยืมเงินให้กับรัฐบาล โดยร่างกฎหมายนี้จะช่วยขยายเพดานหนี้ไปจนถึงกลางเดือนมี.ค.57 ซึ่งจะเปิดทางให้กระทรวงการคลังสหรัฐสามารถออกตราสารหนี้ชุดใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่าเพดานปัจจุบันที่ 17.2 ล้านล้านดอลลาร์
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ หลังจากการปิโตรเลียมสหรัฐ(API) รายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 12 เซนต์ ปิดที่ 99.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 5 เซนต์ ปิดที่ 108.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาวันนี้ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องหรือไม่ กรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เนื่องจากรัฐบาลพยายามจัดการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้ง พร้อมกับยื่นร้องยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี
- ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษากรณีที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้ไต่สวนฉุกเฉินขอเพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากที่เลื่อนมาจากวันที่ 6 ก.พ.และขยายเวลาการส่งคำชี้แจงของจำเลยมาเป็นวันที่ 10 ก.พ.