ธปท.ห่วงปัญหาจำนำข้าวกระทบหนี้ครัวเรือน-สถานการณ์การเมืองอาจกระทบ NPL

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 12, 2014 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ปัญหาที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวเป็นไปได้ที่จะกระทบต่อหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจะมีความเปราะบางเรื่องความสามารถในการชำระหนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวของสินเชื่อเติบโตใกล้เคียงกับการขยายตัวของเงินฝาก สะท้อนว่าอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเริ่มปรับเข้าสู่ระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งชะลอลงจากปี 56 ที่สัดส่วนดังกล่าวต่างกันถึง 2 เท่า ดังนั้น ภาวะการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในการระดมเงินฝากก็คงจะไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา

ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น ขณะนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับไปทั้งสองทิศทาง การส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีความไม่แน่นอนจากการเมืองในประเทศ ทำให้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก หรือเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทาง

"ดอกเบี้ยขณะนี้ที่ 2.25% ยังอยู่ในแนวทางที่ผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและการประคองตัวของเศรษฐกิจให้อยู่รอดได้ในระยะต่อไป โดยในระยะสั้นดอกเบี้ยอาจไม่ปรับไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลกที่หลายฝ่ายมองว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่ขณะนี้ประเทศเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งในอนาคตแนวโน้มดอกเบี้ยไทยก็จะเป็นไปตามทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก"นางรุ่ง กล่าว

นางรุ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยนอกประเทศยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่กำลังปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ทำให้เริ่มมีแรงกระเพื่อมต่อตลาดเงินโลก รวมถึงตลาดเกิดใหม่ แต่ที่ผ่านมาประเทศในเอเชียก็ยังสามารถปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป แม้ว่าเสถียรภาพการเงินจะดีขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องโครงสร้าง ดังนั้นจึงต้องขึ้นยู่กับว่าภาคการเมืองจะให้การสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินและการคลังในระยะยาวอย่างไร

ปัจจัยนอกประเทศมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยด้วยเช่นกัน แต่เบื้องต้นการเปลี่ยนแปลงผู้นำธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายมากนัก ซึ่งตลาดคาดว่านโยบายของเฟดจะยังคงเดิม ดังนั้น ตลาดน่าจะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะมีเงินไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่ก็เชื่อว่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น เพราะที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของประเทศกลุ่มนี้สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมหลัก จึงเชื่อว่าในระยะยาวเงินทุนต่างชาติจะกลับมาให้ความสนใจลงทุนในตลาดเกิดใหม่ จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ส่วนปัจจัยในประเทศยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองที่กระทบต่อเศรษฐกิจและความเข้มแข็งของภาคธุรกิจ แม้ว่าสถาบันการเงินจะมีความเข้มแข็งหลังจากมีการกันสำรองไว้สูง และมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็อาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้เห็นในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 56 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีคุณภาพด้อยลง จึงเป็นปัจจัยที่ ธปท.ยังติดตามอยู่

นางรุ่ง ยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 4%ว่า ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นกับว่าสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนและผู้บริโภคฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจะต้องมีการเบิกจ่ายการลงทุนจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ การส่งออกขยายตัวได้ 7% ประกอบกับ การบริโภคสินค้าทั้งที่คงทนและไม่คงทนที่มีสัดส่วนถึง 70% ของการบริโภคฟื้นตัวกลับมา การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองกลับมาฟื้นตัวขึ้นด้วย ซึ่งทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นอย่างช้าภายในไตรมาส 2/57


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ