นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯและกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ว่าประเทศไทยยังมีความปลอดภัย ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆสามารถยังเที่ยวได้
ด้านนายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงยังคงทำงานได้และการใช้จ่ายงบประมาณก็เป็นไปตามปกติ แต่ยอมรับว่ากระทบต่อนักท่องเที่ยวบ้าง เพราะมีการตั้งเป้าตัวเลขการท่องเที่ยวปี 2557 ในสภาวะสถานการณ์ปกติตั้งเป้า 28 ล้านคน จะมีรายได้ ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท หากการชุมนุมยังยืดเยื้อ จะมีนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 27 ล้านคน คาดรายได้ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยขาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปถึง 1 แสนล้านบาท
อีกทั้งยอมรับว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะใน กทม. ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรม ก็ได้ร้องเรียนมายังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ถึงร้อยละ 30 จากเดิม ที่คาดว่าจะท่องเที่ยว กทม. ร้อยละ 60 คน อย่างไรก็ตามจังหวัดอื่นๆกลับมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
พร้อมระบุว่า กระทรวงเสนอนายกรัฐมนตรีว่าจะของบกลางประจำปี 2557 เพื่อเป็นเงินรางวัลให้กับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญจากการแข่งขันซีเกมที่ประเทศพม่า
ขณะที่นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า การท่องเที่ยวใน กทม.ได้รับผลกระทบ เพราะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจากเอเชีย ส่งผลกระทบต่อรายได้กว่า 16,000 ล้านบาท แต่ จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา มีนักท่องเที่ยวเติบโต และน่าพอใจ แต่จะมีการปรับแผนและกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเอเชีย โดยเฉพาะตลาดยุโรป
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการปรับเป้าหมายและตัวเลขนักท่องเที่ยวลง เพราะยังต้องประเมินในไตรมาส 3 และ 4 ก่อน เพราะอาจจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวกลับมาได้
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อดูแลการชุมนุม ทาง ททท.และการบินไทย ได้ร่วมมือกัน เชิญผู้สื่อข่าวทั่วโลก กว่า 30 ประเทศ เดินทางมาประเทศไทย ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์และเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวออกไปเป็นภาพลบ แต่การประท้วงเป็นการประท้วงที่สงบ ไม่มีอะไรที่น่ากลัว นอกจากนี้จะพาไปดูแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดด้วย