ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้เพียง 2.9%(ปรับประมาณการครั้งล่าสุดเดือน พ.ย.56) ซึ่งลดลงมากว่าครึ่งจากระดับ 6.5% ในปีก่อนหน้า ตอกย้ำภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย
ภาคส่วนที่ดูแล้วยังมีความน่ากังวลอยู่มากก็คือ การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่า 1 ใน 5 ของ GDP โดยเมกะโปรเจกต์ภาคขนส่ง 2 ล้านล้านบาทของภาครัฐนั้นมีอันต้องสะดุด ส่วนภาคเอกชนก็ยังรอดูท่าทีให้สถานการณ์การเมืองชัดเจนจึงจะค่อยตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม ดังจะเห็นได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลามไปถึงตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการที่สินเชื่อส่วนใหญ่นั้นจัดเป็นการกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน บ่งชี้สภาพคล่องของธุรกิจที่ตึงตัวขึ้น
นอกจากนี้หากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ที่จะประกาศในวันที่ 17 ก.พ.ออกมาตามคาด การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ใกล้กับระดับศักยภาพ พูดง่ายๆ คือ GDP ยังสามารถขยายตัวไปได้ตามปัจจัยพื้นฐาน แต่เมื่อมองในระยะถัดไป กลับพบแต่ความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราการขยายของเศรษฐกิจ หลุดจากระดับศักยภาพ ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่น่ากังวลในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ปัญหาการเมืองไทยยังดูไม่มีทางออกชัดเจน และยังมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกพักใหญ่