ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 57 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปี 56 ที่ขยายตัวได้ประมาณ 3% คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 3.6-3.7% ซึ่งจะส่งผลดีกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย แต่จะไม่ถือว่าดีมากนักอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากเป็นผลมาจากการเมืองในประเทศ
เศรษฐกิจโลกในด้านของปัจจัยบวกมองว่ายุโรปจากที่มีปัญหาวิกฤตการหนี้สินและสถาบันทางการเงิน รวมถึงบางประเทศเช่น อิตาลี สเปน ที่มีปัญหาภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีการฟื้นตัวขึ้น ขณะที่สหรัฐฯก็เห็นการฟื้นตัว แม้ว่าจะยังไม่ดีนักจากปัญหาการจ้างงานหรืออัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง แต่ปัญหาเพดานหนี้มีข้อตกลงกันได้ ทำให้ปัจจัยเสี่ยงลดลง ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าเกิดการชะลอตัวในประเทศดาวรุ่งหลังจากดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินการคลัง เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ของไทย เกิดปัญหาหนี้เสียในระบบและนอกระบบ
ด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เคยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)จะอยู่ที่ 3-4% แต่ขณะนี้โอกาสที่จะเติบโตได้ตามคาดมีน้อยลง จากปัญหาวิฤกตทางการเมืองที่ยืดเยื้อ แต่ปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้ GDP ขยายตัวได้เป็นผลสืบเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 4-7.5% ดีกว่าปี 56 และราคาน้ำมันปีนี้ก็น่าจะต่ำกว่าปีก่อนจากอุปทานที่มีมากขึ้น
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนสูง คาดว่าอัตราค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29-34 บาท/ดอลลาร์ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่มองว่าในท้ายที่สุดแล้วจะมีการปรับลดลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากนโยบายการคลังของภาครัฐหยุดชะงักและเดินหน้าไม่เต็มที่ โดยคาดว่าจะมีรัฐบาลที่สามารถปฎิบัติงานได้เต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลังหากการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือเข้าสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ มองว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลต่อเรื่องของเงินเฟ้อ
"ตอนนี้ยังไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวมากนัก แต่จะเป็นกังวลเรื่องของอัตรากการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ที่จะสูงขึ้นแบมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง แม้ขณะนี้อัตราการการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1%"นายอนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะกู้เงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนคงดูเรื่องของความผันผวนของค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยให้ดี เน้นการบริหารต้นทุน หากจะมีการกู้เงินมาลงทุนในโครงการใหญ่ รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนมาสร้างบ้านสำเร็จรูปมากขึ้น และเตรียมตัวรับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในบางสาขา ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนมากพอควรหาซื้อที่ดินเก็บสะสม ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี และมองหาโอกาสขยายการลงทุนไปยังประชาคมอาเซียน(AEC)ด้วย
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในหัวข้อ"วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ปี 57"ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ยังเผชิญกับแรงกดดันหลายด้านโดยเฉพาะความเสี่ยงเฉพาะหน้าอย่างสถานการณ์ทางเมือง ซึ่งยังต้องติดตามในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่กดดันการใช้จ่ายภาครัฐ ทิศทางราคาสินค้า พลังงาน ค่าไฟฟ้าและภาระค่าครองชีพที่อาจขยับขึ้นตั้งแต่ตั้นปี และความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยประเมินว่า GDP ปีนี้จะอยู่ในระดับ 3.7% หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ยืดเยื้อยาวนาน หรือลดลง 2.5% หากปัญหายาวนานถึงครึ่งหลังของปี
สำหรับสินเชื้อที่อยู่อาศัยปี 57 คาดว่ายังคงเติบโตได้ แม้เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 56 ที่เติบโตราว 10.5% โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตราว 6.5-9.0% ส่วนสถานการณ์คุณภาพหนี้ยังไม่น่ากังวล ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย และระดับหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยทรงตัวตลอดปีที่ 2.3% ของสินเชื้อรวม
สรุปโดยรวมภาพอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ เนื่องจากตลาดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ผ่านมามีการเปิดตัวโครงการเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังคงมีสต็อกที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมขายคงค้างจำนวนมาก จึงคาดว่าในปีนี้ผู้ประกอบการจะชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อประคองตัวตามความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ เช่นจากเดิมจะเปิดโครงการจำนวน 30 โครงการ ลดลงเหลือเพียง 10 โครงการ แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่กระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการเนื่องจากส่วนใหญ่มี D/E Ratio ในอัตราที่ต่ำ โดยมี Credit Line คงเหลือจำนวนมาก
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 57 ว่า มองไป 6 เดือนข้างหน้าถึงกลางปี 57 คาดดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย จะมีค่า 6.20 ซึ่งจะสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยผู้ประกอบการคาดหวังสถานการณ์ที่ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี
โดยรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 57 ที่จะเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะลดลง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ในเดือน ม.ค.มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดขาย 10 โครงการ 1,800 หน่วย คอนโดมิเนียม 7 โครงการ จำนวน 5,700 หน่วย คาดว่าจะชะลอการเปิดโครงการใหม่ไปจนถึงกลางปีหรือปลายไตรมาส 2/57 และการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคโดยประชาชนจะชะลอลง เหลือเพียงภาคการส่งออกที่จะได้รับประโยชน์จากบาทอ่อน โดยต้องจับตาเงินทุนเคงื่อนย้ายจากการชะลอมาตรการการผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐฯ
ผู้ประกอบการคงจะถือเงินสดมากขึ้น ชะลอการก่อหนี้ และรอดูสถานการณ์ ตลอดจนปัญหาแรงงานยังคงมีอยู่ แต่ไม่วิกฤตเท่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากชะลอการลงทุนในโครงการภาครัฐ และการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มีน้อยลง และการเปิด AEC ปี 58 เป็นปัจจัยบวกในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงตลาดรองในภูมิภาคที่ยังมีโอกาสเติบโตในด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก เชียงราย อุบลราชธานี หนองคาย กาญจนบุรี นครสววรค์ ฯลฯ ซึ่งต้องระวังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาโครงการจำนำข้าว ประกอบกับการชะลอตัวการเปิดโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดหลักในภูมิภาคจะช่วยให้เกิดดุลยภาพในตลาดที่อยู่อาศัย และลดการเก็งกำไรและการลงทุนเกินตัว
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท(PS) กล่าวว่า บริษัทมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ โดยรอดูสถานการณ์ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ 3-4 โครงการ แต่ยังต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา หากจังหวะที่ดีกลับมาเมื่อใดก็จะเปิดตัวโครงการทันที ส่วนเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งหากยังโอนโครงการให้กับลูกค้าไม่ได้ บริษัทก็ยังมีงานในมือที่เป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดได้ทันที และเฝ้าระวังงานในมือที่มีอยู่ เนื่องจากมีโอกาสทิ้งใบจอง ค้างดาวน์ และทิ้งดาวน์สูงมาก
ขณะที่ในประเด็นการขาดแคลนแรงงาน บริษัทฯมีการปรับตัวมากขึ้นโดยใช้ระบบสำเร็จรูปมากขึ้น (พรีเฟบ) เพื่อประหยัดต้นทุน โดยทางบริษัทฯได้ลงทุนสร้างโรงงานเพื่อประกอบวัสดุแบบสำเร็จรูปเอง
นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย(SPALI)กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้น่าจะเติบโตราว 0-5% โดยอาคารชุดยังน่าจะเติบโตต่อเนื่องและเติบโตได้ดีกว่าบ้านจัดสรร เนื่องจากยังมีความต้องการค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่จะเติบโตได้ดีในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมภาคการบริการและภาคการท่องเที่ยวโดดเด่น เช่น ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ คาดว่าราคาคอนโดมิเนียมจะปรับตัวสูงขึ้น 6-10% ตามราคาค่าก่อสร้างและราคาที่ดินที่สูงขึ้นมาก ขณะที่อัตราการเติบโตของคอนโดมิเนียมในภูมิภาคจะสูงกว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากภูมิภาคมีความต้องการมากและมีฐานต่ำ
นอกจากนั้น ธนาคารยังมีการแข่งขันกันขยายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศยังคงดีอยู่ และ AEC จะเปิดโอกาสให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะ Office และ Serviced Apartment นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม และคอนโดมิเนียม
แต่ยังมีปัจจัยลบในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและผังเมือง รวมถึง EIA ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการ ต้นทุนการพัฒนาโครงการสูงขึ้นต่อเนื่องมาจากราคาที่ดิน โดยเฉพาะอาคารชุดสูง และต้นทุนค่าก่อสร้างจากภาวะราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อ รวมถึงความกังวลใจของผู้บริโภคต่อเรื่องอุทกภัย ยังมีอยู่บางพื้นที่
"สรุปภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโต หวังว่าการเมืองจะไม่มีปัญหาถึงกลางปี ซึ่งต้นทุนสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำและการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังซื้อ การขยายตัวในภูมิภาคยังมีโอกาส ค่อยๆลงไปศึกษา และค่อยๆลงไปเติม"นายอธิป กล่าว