ประการแรก เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้รัฐบาลเข้าไปเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าเกษตรอีกต่อไป วิธีนี้จะตัดปัญหาเรื่องสต๊อคออกไปทั้งหมด, หากรัฐบาลจะอุดหนุนเกษตรกรเมื่อใด ให้ใช้วิธีจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรตรงๆ ผ่านบัญชี ธกส. โดยจ่ายคูณตามจำนวนที่ขายจริง แต่ช่วยเฉพาะรายย่อย, แก้ไขกฎหมายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)ห้ามมิให้ ธกส. รับจำนำสินค้าเกษตรใดเกินกว่าราคาตลาดอีกต่อไป เพื่อให้เป็นการรับจำนำทางการเงินอย่างแท้จริง
รวมทั้ง เสนอให้สหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัด เป็นผู้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง เหลือเฉพาะพื้นที่ชลประทาน, สำหรับพื้นที่เดิมใช้ปลูกข้าว แต่สหกรณ์ห้ามปลูก ให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชย เพื่อช่วยไปปลูกพืชอื่นแทน, ช่วยเหลือสหกรณ์ในด้านการตลาด สร้างโกดังมาตรฐานให้สหกรณ์เช่า เป็นโกดังชนิดที่เก็บข้าวได้เป็นเวลา 2-3 ปี, ช่วยเหลือสหกรณ์ในการจัดหาอุปกรณ์ทำนาเพื่อให้สมาชิกยืม, ช่วยเหลือชาวนาในเรื่องการดำรงชีวิต เช่น การศึกษาบุตร การรักษาพยายาล และ ปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ เก็บภาษีที่ดินผืนใหญ่ในอัตราก้าวหน้า
"ด้านหนึ่ง จำนำข้าว มีข้อดีบางอย่าง ชาวนาคุ้นเคยเพราะทำมาแล้วหลายรัฐบาล ไม่ทำให้พ่อค้าคนกลางได้ประโยชน์ แต่ก็มีข้อเสีย หากกำหนดราคาจำนำสูงลิ่ว จะทำให้ขาดทุนมาก ทำให้ข้าวไหลเข้ามือรัฐบาลเกือบทั้งหมด ทำให้ตลาดขายส่งและพ่อค้าคนกลางหมดสภาพ เมื่อมีข้าวอยู่ในมือรัฐบาลมากเกินไป รัฐบาลก็ขายไม่เก่งเท่าเอกชน เงินไปจมในสต๊อค ข้าวเสื่อมสภาพ มีปัญหาสต๊อคลม นอกจากนี้ จำนำข้าว กับปัญหาทุจริตขายข้าว เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก"
"อีกด้านหนึ่ง ประกันรายได้ ก็มีข้อดีบางอย่าง เงินที่ใช้ค่อนข้างแน่นอน ตกหล่นน้อย ไม่มีปัญหาข้าวเสื่อมสภาพ ไม่ทำลายตลาดพ่อค้าคนกลาง แต่ก็มีข้อเสีย มีปัญหาชาวนาแจ้งพื้นที่เพาะปลูกเกินจริง และไม่มีผลดันให้ราคาตลาดสูงขึ้น จึงมีคนวิจารณ์ว่าทำให้พ่อค้าคนกลางได้กำไรมากขึ้น"นายธีระชัย ระบุ