ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองจีดีพี Q4/56 โตจากสินค้าคงคลัง แต่บริโภค-ลงทุนหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 17, 2014 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในภาพรวมไตรมาส 4/56 ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่หากพิจารณาในองค์ประกอบแล้วจะพบว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุน ล้วนหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่การบริโภคของภาครัฐขยายตัวในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้จีดีพียังคงเป็นบวกได้ร้อยละ 0.6 นั้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ระบุว่าปริมาณสต็อกของสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะข้าวเปลือก ผลจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังดังกล่าว มีส่วนทำให้จีดีพีขยายตัว (Contribution to GDP Growth) ถึงร้อยละ 1.8 ซึ่งบ่งชี้ว่าหากไม่มีรายการดังกล่าว อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/56 จะอยู่ต่ำกว่าร้อยละศูนย์

เศรษฐกิจไทยชะลอลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 56 เป็นผลมาจากสัญญาณที่ซบเซาของการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จีดีพีในไตรมาส 4/56 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 (YoY) ในไตรมาส 3/2556 ขณะที่ จีดีพีที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.6 (QoQ, s.a.) สะท้อนโมเมนตัมที่แผ่วลงจากที่เติบโตร้อยละ 1.3 (QoQ, s.a.) ในไตรมาสก่อนหน้า ท่ามกลางบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

ขณะที่ภาพรวมในปี 56 นั้น เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.5 ในปี 25 ตามภาวะอ่อนแรงของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 0.2 การลงทุนโดยรวมหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 1.9 ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (ณ ราคาคงที่) พลิกกลับมามีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ส่วนจีดีพีช่วงครึ่งแรกของปี 57 น่าจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 1.0 ซึ่งต่ำลงกว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.6 ขณะที่ภาพรวมของปี 57 แม้จะคงกรอบตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงประมาณร้อยละ 2.2-3.7 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.0 ไว้ในขณะนี้ แต่จะยังคงติดตามสถานการณ์การเมือง ตลอดจนตัวแปรอื่นๆ อาทิ ค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน ภาวะภัยแล้ง (ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อรายได้เกษตรกร) ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่อาจมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

"ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของบทสรุปทางการเมืองในประเทศ ทำให้กรอบเวลาที่ไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้มากยิ่งขึ้น โดยนอกจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อลากยาวจะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐแล้ว ยังมีผลทางอ้อมต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ