กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ฐานะทางการเงินการคลังของภาครัฐยังมีความมั่นคงและเข้มแข็งมาก ณ สิ้นปีงบประมาณปี 56 มีเงินคงคลังทั้งหมดประมาณ 334,732 ล้านบาท สำหรับการจัดเก็บรายได้ก็สามารถจัดเก็บได้เกินเป้า โดยในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 57 (ต.ค.-ธ.ค.56) รวมถึงเดือน ม.ค.57 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้แล้วกว่า 600,000 ล้านบาท
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการเงินเพื่อดำเนินโครงการจำนำข้าว ดังนั้น การจัดการแหล่งเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส.และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้ทาง ธ.ก.ส. มีความสามารถชำระเงินจำนำให้กับชาวนาได้โดยเร็ว ถือเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ปกติ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของทางกระทรวงการคลังหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรมีข้อจำกัดทางกฎหมายมากขึ้น ประกอบกับ มีการดำเนินการเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลในหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง
“จากยอดรับจำนำทั้งสิ้น 175,000 ล้านบาทนั้นได้ดำเนินการจ่ายให้ชาวนาแล้วประมาณ 65,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้สามารถจ่ายเงินในส่วนที่ค้างชำระ 110,000 ล้านบาทให้กับชาวนาได้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มการจ่ายเงินให้กับชาวนาได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 ก.พ. ตามลำดับการลงทะเบียน และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายโดยด่วน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของ ธ.ก.ส. ในการดำเนินการจ่ายเงินต่อวันแล้วนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6-8 สัปดาห์" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และโปรดอย่าขัดขวางกระบวนการและมาตรการการจ่ายเงินให้แก่ชาวนา รวมทั้งอย่าขัดขวางสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ เพื่อให้ชาวนาได้รับเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้เร็วขึ้น และขอให้หน่วยงานดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วน
พร้อมยืนยันว่าชาวนาทุกคนที่ร่วมโครงการจำนำข้าวและได้รับใบประทวนมีสิทธิได้รับเงินจำนำข้าวเต็มจำนวน ซึ่งกระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส. มีหน้าที่ทำงานร่วมกันเพื่อจ่ายเงินให้แก่ชาวนาโดยเร็วที่สุด รัฐบาลมีความจริงใจในการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อชาวนา และขออย่านำความทุกข์ร้อนของชาวนาไปเป็นประเด็นและเครื่องมือทางการเมือง
"ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เข้าใจว่าโครงการรับจำนำไม่ดี ใช้งบประมาณมาก และมีการรั่วไหลนั้น ขอบอกว่าการดูแลชาวนา 4 ล้านคนด้วยการที่มีต้นทุนรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดนั้นไม่ได้ทำให้เสียวินัยการคลัง จนเป็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และยังเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินที่มีความพร้อมในเรื่องแหล่งทุนจะได้ตระหนักดีถึงการให้ความร่วมมือเพื่อให้สามารถระดมทุนมาช่วยในการชำระเงินให้กับชาวนา ทางกระทรวงการคลังมีข้อมูลว่ามีสถาบันการเงินหลายแห่งได้แสดงเจตจำนงที่ดีในเรื่องนี้"นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยขยายเวลาการชำระหนี้ลูกค้าธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยไม่มีค่าปรับ รวมทั้งขยายวงเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับชาวนาเพื่อให้มีเงินลงทุนปลูกข้าวในรอบใหม่ โดย ธ.ก.ส. จะขยายวงเงินให้ลูกค้ารายปัจจุบัน สามารถใช้หลักค้ำประกันที่ได้วางไว้กับ ธ.ก.ส.แล้ว ซึ่งมาตรการนี้จะครอบคลุมถึงชาวนาที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของทาง ธ.ก.ส.สามารถสมัครเป็นสมาชิกและยื่นความจำนงที่ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน สำหรับชาวนาที่อยู่ภายใต้สถาบันเกษตร(สหกรณ์)สามารถขอเงินกู้จากสหกรณ์ได้เช่นกัน โดยทาง ธ.ก.ส. จะสนับสนุนเงินทุนให้กับสหกรณ์
นายทนุศักดิ์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีปัญหาในการจ่ายเงินให้กับชาวนา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากมีกระบวนการขัดขวาง
"มาตราการของ ธ.ก.ส.ที่ช่วยเหลือชาวนา พี่น้องส่วนใหญ่รู้แล้ว เข้าใจแล้ว และได้รับแล้ว สิ่งที่ผมพูดจากใจ คิดว่าพอแล้วหรือยังกับการขัดขวางทำให้ชาวนาเดือดร้อน พอเสียที ธ.ก.ส.ได้รับเงินจากรัฐบาลแล้วส่งให้กับชาวนา จะไปขัดขวางทำไม"นายทนุศักดิ์ กล่าว
ด้านนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการระบาย (ขาย) ข้าว ว่ามีทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1) G to G 2) ขายเป็นการทั่วไปให้ผู้ประกอบการในประเทศ 3) ขายผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET) 4) ขายให้กับหน่วยงานหรือองค์กรการกุศล 5) บริจาค
ทั้งนี้ ในเดือนต.ค.56-ม.ค. 57 ได้มีการส่งเงินจากการระบายข้าวคืนให้กับ ธ.ก.ส. ประมาณ 35,000 ล้านบาท และในเดือนม.ค. 57 สามารถขายข้าวได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท จากนั้น ในเดือน ก.พ.และมี.ค.นี้ จะมีการประกาศขายข้าวเพิ่มขึ้นอีก เดือนละประมาณ 1 ล้านตัน
สถิติปริมาณการส่งออกข้าวของไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละประมาณ 8 ล้านตัน ขณะที่สถิติการซื้อขายข้าวในตลาดโลก 2-3 ปีที่ผ่านมา ประมาณปีละ 30-35 ล้านตัน
"ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มเปิดซองประมูลขายข้าว ซึ่งล่าสุดสามารถขายได้แล้ว 1 แสนกว่าตัน โดยหลังจากนี้ไปจะมีการเปิดประมูลตามขั้นตอนของกระทรวงพาณิชย์ เดือนละ 2 ครั้ง รวมกับการประมูลผ่านทาง AFET อีกเดือนละ 2 ครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถระบายข้าวได้ ราว 1 ล้านตัน/เดือน และเชื่อว่าในปีนี้จะสามารถขายข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว