อย่างไรก็ตาม การเป็นรัฐบาลรักษาการณ์จึงไม่สามารถอนุมัติงบประมาณผูกพันได้ ทำให้ สสว.ไม่สามารถของบประมาณ เพื่อมาช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทนเอสเอ็มอี หรือมาตรการอื่นได้ โดยจะรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้อนุมัติมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ สสว.ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอี 500 รายทั่วประเทศ พบว่าช่วงเดือน ม.ค.57 มีเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38 และเพิ่มเป็นร้อยละ 56 ในเดือน ก.พ.57 โดยส่วนใหญ่ยอดขายและรายได้ลดลง ยอดคำสั่งซื้อลูกค้าเริ่มเกิดปัญหา และขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการลดต้นการผลิต, ลดชั่วโมงทำงาน, ลดพนักงาน และไม่รับพนักงานใหม่
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบปัจจุบันใกล้เคียงกับการชุมนุมเมื่อปี 53 แต่ยังไม่รุนแรงเท่าน้ำท่วมปี 54 และวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เอสเอ็มอีจะขาดสภาพคล่องมากขึ้นจนกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) และต้องปิดกิจการ ตามมาด้วยปัญหาว่างงาน และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ที่ สสว. ทันที โดยคุณสมบัติต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง มีข้อมูลเบื้องต้นมายืนยันได้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือได้ประมาณ 2 หมื่นราย และหากยังมีความต้องการมากกว่านี้จะหารือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขยายความช่วยเหลือต่อไป