อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนคือ ความเชื่อมั่น และเมื่อพิจารณาจากคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประเทศเรามีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของ GDP ก็จะเห็นได้ว่าประเทศเรายังมีความเชื่อมั่นในระดับดี
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นมาโดยตลอด และอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันรักษาความเชื่อมั่นเพื่อรักษาโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา(มกราคม-ธันวาคม 2556) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 2,237 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1,110,400 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 207,463 คน ซึ่งนับเป็นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment-FDI) จำนวน 1,132 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 524,768 ล้านบาท
สำหรับในปี 2557 นี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาการเมืองที่ต่อเนื่อง การที่มีรัฐบาลรักษาการปฏิบัติหน้าที่ ก็ทำให้การดำเนินงาน มีข้อจำกัดและขั้นตอนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่จะต้องมีการข้อความเห็นจาก กกต. จึงทำให้ปัจจุบันมีที่คำขอรับการส่งเสริมที่ค้างการพิจารณา จาก BOI เป็นมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการที่ค้างอยู่ควรจะได้รับการพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนโดยด่วน เพราะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายสาขา ซึ่งจะก่อให้เกิดการก่อสร้างโรงงาน และการจ้างงานตามมาอีกมากในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทาง BOI จึงได้มีการขอความเห็นจาก กกต. โดยทาง กกต. ได้ให้ความเห็นว่าน่าจะสามารถดำเนินการตามอำนาจได้ โดยจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ BOI เร่งดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายเพื่อให้สามารถอนุมัติโครงการได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ถ้าเราดูจากมูลค่าของการลงทุนที่รอการอนุมัติในปีนี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติอยู่ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากถูกพิจารณาล่าช้าออกไปในช่วงเวลาที่ทุกประเทศกำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เพราะอาจทำให้นักลงทุนบางรายเปลี่ยนใจหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทนได้