พร้อมกันนั้น ยังปฏิเสธว่า กบข. ไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาประเด็นนี้เป็นกรณีพิเศษ โดย กบข.จะมีการประชุมบอร์ดอีกครั้งในปลายเดือน มี.ค.ซึ่งเป็นวาระการประชุมตามปกติ
"ผมได้สอบถามไปยังปลัดกระทรวงการคลังถึงกระแสข่าวลือดังกล่าว ก็ได้รับยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่เคยมีแนวคิดตามที่เป็นข่าว รวมทั้งข่าวลือที่ว่า กบข.จะปล่อยกู้ให้โครงการรับจำนำข้าวนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ กบข.ไม่สามารถปล่อยกู้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เงินของสมาชิกที่เข้ามาในแต่ละเดือนต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง กบข. ก็ได้นำไปลงทุนผูกพันระยะยาวเต็มพอร์ตตามที่ชี้แจงก่อนหน้านี้ ซึ่งในการลงทุนแต่ละครั้ง กบข. จะมีเกณฑ์การตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาความเสี่ยงทุกด้าน รวมทั้งด้านกฎหมายด้วย และเป้าหมายรวมของพอร์ตลงทุนนั้นต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้ออีกอย่างน้อย 2-3% กล่าวคืออยากได้ผลตอบแทนรวมต่อปี 5-7% ขึ้นไปเพื่อความเพียงพอของเงินออมหลังเกษียณของสมาชิก" นายสมบัติ กล่าว
ปัจจุบัน กบข. มีการลงทุนผูกพันในสินทรัพย์ เพื่อสร้างผลตอบแทนต่อเนื่องในระยะยาวเต็มพอร์ตแล้ว และในแต่ละเดือน กบข.มีเงินของสมาชิกเข้าออกสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาท และได้จัดสรรการลงทุนเพื่อเป็นไปตามนโยบาย คือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่น้อยกว่า 60% ที่เหลือเป็นการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อาทิ หุ้น การลงทุนทางเลือก ประมาณ 40%