สศค.เผยศก.ไทยม.ค.ยังชะลอทั้งการใช้จ่าย-ผลิต-ท่องเที่ยวจากปัญหาการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2014 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนม.ค.57 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวเล็กน้อย แต่การส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลักสามารถขยายตัวได้

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2557 หดตัวอยู่ต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -55.9 ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวทั้งจากในส่วนภูมิภาคและในเขต กทม. โดยภาพรวมในเดือนมกราคม 2557 หดตัวร้อยละ -30.3 ต่อปี

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 61.4 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำในเดือนมกราคม 2557

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวลงทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -19.3 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -36.2 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง วัดภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมกราคม 2557 หดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มหดตัว

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าของไทยหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี จากการส่งออกไปยังตลาดส่งออกในภูมิภาค เช่น ตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกงที่หดตัวร้อยละ -24.2, -20.2, -18.4 และ -14.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีนที่ตรงกับเดือนมกราคมในปีนี้และกุมภาพันธ์ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัวได้เล็กน้อย โดยเฉพาะจากยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 1.8 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 6.5 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ

ภาคการผลิตมีสัญญาณหดตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(เบื้องต้น) ในเดือนมกราคม 2557 หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ ยานยนต์ และ อาหาร ที่หดตัวร้อยละ -26.5 -35.7 และ -9.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ และวิทยุโทรทัศน์ ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 และ 1.6 ต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 55 เดือน โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.9 เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมกราคม 2557 มีจำนวน 2.3 ล้านคน ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี

นอกจากนี้ เครื่องชี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งวัดจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วง 1- 24 กุมภาพันธ์ 2557 หดตัวที่ร้อยละ -19.6 ต่อปี สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองซึ่งทำให้ 48 ประเทศ (สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยประมาณร้อยละ 92) ประกาศเตือนการเดินทางเข้าประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การผลิตภาคการเกษตรในเดือนมกราคม 2557 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการขยายตัวในหมวดพืชผลป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2557 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 166.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ