นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้ารวมยังติดลบ 15% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทนที่ติดลบ 20% สินค้าอุปโภคบริโภคติดลบ 5% สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงมาก เนื่องจากรอดูความชัดเจนทางการเมืองเป็นหลัก เป็นเครื่องชี้ว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดับลงทุกตัว
โดยส่วนตัวในฐานะนักวิเคราะห์จึงมองว่านโยบายการเงินมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% เพื่อช่วยลดต้นทุนการเงินของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะพิจารณา แต่หากปัญหาการเมืองในประเทศจบลงด้วยดี มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยก็น่าจะโตได้ 3% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้คงต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้นเป็นหลัก
ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง หากปัญหาการเมืองลากยาวออกไปอีกก็เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้แล้วว่าจีดีพีไทยน่าจะโตได้ 2.5-3% ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ได้คือ การส่งออก แต่เบื้องต้นตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ออกมาตามที่คาดไว้ การลงทุนก็ยังมีความไม่แน่นอน
"ถ้าการเมืองจบภายในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ แต่หากการเมืองลากยาวต่อไปอีก 2-3 เดือน ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ในภาวะถดถอย" นายไพบูลย์ กล่าว
ในส่วนของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้ คาดจะปรับลดลงเหลือ 8% จากเดิมคาดไว้ที่ 15% ภายใต้สมมติฐานปัญหาการเมืองต้องจบลงภายในครึ่งปีแรก ขณะที่เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยคาดจะอยู่ที่ 1,400-1,500 จุด โดยเป็นไปในลักษณะการปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวามากนัก