กฟผ.เผยวอนงดทำนาปรังรอบ 2 เหตุน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ลดลงต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2014 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. โดยเฉพาะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการระบายน้ำตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกันเพียง 4,417 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27% ของความจุใช้งานได้ และต้องระบายน้ำตามแผนช่วงฤดูแล้งในระยะเวลา 2 เดือนข้างหน้าอีกประมาณ 1,250 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะเหลือปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน สำหรับการอุปโภค-บริโภค และผลักดันน้ำเค็มราว 3,200 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ที่ กฟผ.ดูแล ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเพียงพอที่จะระบายให้กับพื้นที่เพาะปลูกได้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ โดยอ่างเก็บน้ำภาคตะวันตก(เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ) ปริมาณน้ำใช้งานได้ 7,250 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 54 ของความจุใช้งานได้ อ่างเก็บน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนน้ำพุง) มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,337 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของความจุใช้งานได้ และอ่างเก็บน้ำภาคใต้ (เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง) มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 3,986 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 73 ของความจุใช้งานได้

นายณัฐจพนธ์ กล่าวว่า จากปัญหาความเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาในปีนี้เร็วกว่าปกติ จนค่าความเค็มที่วัดได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบของการประปานครหลวงนั้น กรมชลประทานได้แก้ไขปัญหาด้วยการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ และปรับเพิ่มปริมาณน้ำระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นระยะๆ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเจือจางน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด พร้อมกับผันน้ำส่วนหนึ่งจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลลงไปเจือจางน้ำเค็ม ซึ่งปัจจุบันค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแลของการประปานครหลวง(กปน.) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถผลิตน้ำประปาได้

ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดสรรน้ำที่มีอยู่จำกัดนี้ให้เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมในระยะต่อไปโดยไม่ขาดแคลน กรมชลประทานจึงมีมาตรการให้เกษตรกรพักการเพาะปลูกและงดการทำนาปรังครั้งที่ 2 หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังครั้งที่ 1 ประมาณเดือนมีนาคมนี้ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด ส่วน กฟผ.จะพยายามดูแลการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อนให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง และจะร่วมกับกรมชลประทานผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ