CIMBT มองโอกาส กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%หลังคาดศก.ไทย H1/57เข้าสู่ภาวะถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (CIMBT)คาดว่า มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 12 มี.ค.57 โดยพิจารณาจากการหดตัวของอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจากหนี้ครัวเรือนทำให้คนไม่จับจ่ายใช้สอย ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มผ่อนคลาย อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งความกังวลต่อเงินทุนไหลออกในระยะสั้นมีไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้

สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพราะไร้ปัจจัยที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Growth engine) เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ซบเซา ซึ่งเห็นสัญญาณชัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว

ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐชะงักลงจากการที่รัฐบาลยังจัดตั้งไม่ได้ เมื่อผนวกเข้ากับปัญหาทางการเมืองยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุน ส่วนการส่งออกที่หลายสำนักมองว่าจะเป็นพระเอกฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นนั้น สำนักวิจัยฯกลับมองว่าการส่งออกดูดีในทางเทคนิคเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ สำนักวิจัยฯคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะถดถอย โดยอาจหดตัว 1.6% ในไตรมาสแรก และหดตัว 0.3% ในไตรมาส 2 แต่เชื่อว่าถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จภายในไตรมาส 3 และฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้ เศรษฐกิจจะกลับมาเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้มองว่าทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.4% ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการที่เคยคาดการณ์การเติบโต จีดีพี ปี 2557 ไว้ที่ 3.4% เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว

“อย่างไรก็ดี น่าหวั่นใจว่า ถ้าปัญหาการเมืองยืดเยื้อและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในไตรมาส 3 มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรามองว่ากรณีเลวร้ายที่สุด จีดีพีปี 2557 อาจหดตัว1% เพราะผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม" นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ลงทุนลดลง เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ ซึ่งดูผิวเผินจะคล้ายกับเหตุการณ์ในอดีต หากแต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปจากเดิมตรงที่ภาคการส่งออกของไทยครั้งนี้อ่อนแอมาก จนไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนก่อน โดยเฉพาะถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนจะย่ำแย่ลงไปอีก

สำหรับภาคการส่งออกที่ดูว่าเป็นบวกนั้น ยังไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง เพราะการส่งออกไม่ดี แต่การนำเข้าที่แย่กว่า ทำให้เมื่อบวกลบแล้ว ภาคการส่งออกสุทธิยังดูดีอยู่ นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้วค่าเงินบาทอ่อนค่า ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ไทยกลับส่งออกได้ไม่ดีนัก สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกไม่ได้เอื้อต่อการส่งออกของไทย

อีกทั้งเรามีปัญหาโครงสร้างการส่งออก สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เทคโนโลยีล้าสมัย ไทยส่งออกสินค้าที่ความต้องการโลกลดลง เราส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แต่ตลาดโลกเปลี่ยนไปต้องการสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งเราไม่มีความสามารถในการแข่งขันมากนัก ส่วนการส่งออกยางพาราก็ติดลบ ทั้งที่เป็นสัดส่วนสำคัญของการส่งออก

และตลาดส่งออกของไทยกระจายไปภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และส่งออกไปสหรัฐและญี่ปุ่นลดลง แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกรอบนี้มาจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าการส่งออกของไทยครั้งนี้ไม่น่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่ควร

สำหรับข้อกังวลที่หลายคนวิตกว่า ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้น สำนักวิจัยฯ มองว่า เมื่อเปรียบเทียบไทยกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลด “มุมมอง" จากเสถียรภาพเป็นเชิงลบ จากความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นและจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง อย่างไรก็ดี บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือกำลังทบทวน “มุมมอง" เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นทบทวน “อันดับความน่าเชื่อถือ" ทว่า หากปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อต่อไปภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า อันส่งผลต่อเศรษฐกิจและกระทบความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงอย่างมากที่ไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ด้านทิศทางค่าเงินบาท แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีเงินสำรองต่างประเทศสูง และหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยมีไม่มาก จึงดูเหมือนว่าไทยมีภูมิคุ้มกันจากภาวะความผันผวนของตลาดเงินต่างประเทศหากมีการถอนมาตรการ QE ที่แรงขึ้น

อย่างไรก็ดี ไทยไม่สามารถหนีวิกฤตเงินไหลออกได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติอาจถอนเงินลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ทั้งกระดาน โดยไม่ดูเสถียรภาพของประเทศมากนัก ที่น่าจับตาคือ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯที่จะประชุมวันที่ 19 มี.ค. 2557 ซึ่งตลาดคาดกันว่าอาจจะถอนหรือลดมาตรการ QE หนักกว่าเดิม จนนักลงทุนตระหนกและถอนเงินออกจากตลาดเกิดใหม่มากขึ้น จึงอยากเตือนนักลงทุนว่า ถ้าสหรัฐฯถอนมาตรการ QE และหยุด QE เร็วกว่าที่หลายคนคาด คือ กลางปีนี้ เงินจะไหลออกจากภูมิภาคมากขึ้นและเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้

สำนักวิจัยฯ มองว่า ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าแตะ 33.50 บาท/เหรียญสหรัฐในไตรมาสแรก และอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 34.00 บาท/เหรียญสหรัฐในสิ้นปีนี้ หรืออ่อนค่ามากกว่านี้หากเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งรอบนี้อาจได้รับขนานนามว่าเป็น “International Buffet Crisis" ไม่ใช่เพียง Hamburger Crisis หรือวิกฤตต้มยำกุ้งเหมือนในอดีต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ