ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 61.79% จากการลดลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เครื่องประดับและเพชรพลอย
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม เช่น HDD เครื่องปรับอากาศ น้ำตาล ปูนซิเมนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม เช่น รถยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื้อไก่แปรรูป เป็นต้น
โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เดือนม.ค.57 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากในช่วงมกราคมปีก่อน ผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นผลมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้มีฐานค่อนข้างสูงประกอบกับมีความกังวลสถานการณ์การเมืองในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออกในประเทศแถบโอเชเนีย และแถบแอฟริกายังมีการขยายตัวเล็กน้อย คาดว่ามีจำนวน 155,000 คัน และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศของเดือนม.ค.57 คาดว่ามีจำนวน 67,422 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45.91%
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตในเดือนม.ค.57 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.60% โดยเพิ่มขึ้นที่งในกลุ่ม Monolitic IC, Semiconductor และ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เนื่องจากส่งออกไปตลาดหลักได้มากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา
สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า มีการปรับตัวลดลง 1.01% โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เนื่องมาจากภาคครัวเรือนในประเทศชะลอการใช้จ่าย ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ จากการขยายตัวของโครงการบ้าน คอนโดมิเนียม และการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรปที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน 2.1% ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลง 6.9% เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลายชนิดได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้ลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยเดือนม.ค.57 มีปริมาณ 1.42 ล้านตัน ลดลง 19.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.58 ล้านตัน ลดลง 10.20% เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและลดปริมาณส่นค้าในคลังสินค้าเพื่อรอดูทิศทางในอนาคต
นายสมชาย กล่าวว่า จีดีพีภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/56 ลดลง 2.9% เนื่องจากแรงกดดันจากมาตรการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ทำให้ทั้งปี 56 จีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 0.1%
"ส่วนดัชนีภาคอุตสาหกรรมทั้งปียังคงเป้าไว้ที่ 2% แต่ก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งของรอดูเดือนกุมภาฯ-มีนานี้ก่อน ถ้าการเมืองไม่กระทบระบบโลจิสติกส์ การส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าไม่สะดุดก็อาจจะไม่มีปัญหา"นายสมชาย กล่าว