SCB EIC คาดกนง.ลดดบ. 0.25%ในการประชุมมี.ค.นี้, ประเมิน GDP ปีนี้ขยายตัว 2.4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 3, 2014 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps ในการประชุมในเดือนมีนาคม และอีกครั้งภายในครึ่งปีแรก โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.75% ในปี 2014 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาคเอกชนในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ

ทั้งนี้ ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ยังไม่น่าจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารงานอย่างเต็มที่จนถึงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 2014 จะขยายตัวได้มากกว่าปี 2013 ที่ระดับ 2.9% มีค่อนข้างน้อย แม้ว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ดีราว 5% แต่ปัจจัยสนับสนุนอื่น อันได้แก่ การท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอ

โดยรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวได้เฉลี่ยราว 25% ต่อปีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มขยายตัวน้อยลงเหลือเพียงไม่ถึง 10% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานในภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และค้าส่งและค้าปลีก มีรายได้ลดลงเพราะนายจ้างอาจต้องปรับลดค่าใช้จ่ายโดยการลดชั่วโมงการทำงาน, ลดเงินเดือน หรือแม้กระทั่งปรับลดคนงาน ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลลบมายังการบริโภคของครัวเรือน

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยทางด้านรายได้แล้ว การบริโภคในปีนี้ยังได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ที่น่าจะลดลงราว 40% ในช่วงครึ่งปีแรกหลังจากนโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง โดยรวมแล้ว SCB EIC ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2014 จะขยายตัวได้ราว 0.8% เท่านั้น การบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก เช่น การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ในส่วนของการลงทุนนั้น ธุรกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอการลงทุนไปจนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยการลงทุนในปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.2% ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในอดีต

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่น่าจะเผชิญภาวะเงินทุนไหลออกอย่างรุนแรงเหมือนประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) อื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และตุรกี ที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศถูกกดดันจากภาวะเงินทุนไหลออกในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า โอกาสที่ไทยจะพบกับแรงกดดันเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศเหล่านั้นน่าจะไม่สูงนัก เนื่องจากเรามีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่าอย่างชัดเจนอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำและค่อนข้างมีเสถียรภาพราว 2-3% ในขณะที่บางประเทศที่เกิดปัญหามีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 7% อย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้นักลงทุนไม่อยากถือครองเงินสกุลเหล่านั้นเพราะอำนาจซื้อของสกุลเงินท้องถิ่นจะลดลงอย่างรวดเร็ว ประการที่สอง ไทยไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเหมือนบางประเทศที่เกิดปัญหา การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง คือ การที่ประเทศต้องพึ่งพาการกู้ยืมจากต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้านำเข้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกู้ยืมดังกล่าวมีแนวโน้มแพงขึ้นในภาวะที่สภาพคล่องของโลกมีแนวโน้มลดลง

สำหรับในปี 2014 SCB EIC ประเมินว่า ปัจจัยพื้นฐานของไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 2.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำราว 1.3% จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การประเมินเงินเฟ้อมีสมมุติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ราว 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดอีไอซีประเมินว่าจะกลับมาเกินดุลราว 0.5% ต่อ GDP หลังจากที่หดตัว 0.6% ต่อ GDP ในปีที่ผ่านมา

หนี้ครัวเรือนที่เคยเร่งตัวในช่วงต้นปี 2013 เริ่มขยายตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และจากการที่นโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงนี้ไม่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดและไปกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว อีไอซี จึงมองว่า กนง. น่าจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของครัวเรือนและธุรกิจในภาวะที่รายได้มีแนวโน้มขยายตัวได้น้อย

ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกในระยะสั้น คือ เศรษฐกิจจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (HSBC/Markit’s China Flash Manufacturing PMI) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดภาคการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีในหมวดย่อยที่สำคัญซึ่งรวมถึงดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในสินค้าส่งออก (new export orders) ปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ G3 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป) ยังไม่ส่งผลมายังความต้องการสินค้าจีนมากนัก ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอลงจะส่งผลกระทบมายังภาคการส่งออกของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ต้องจับตาดูว่าการปฏิรูปของรัฐบาลจีนที่จะลดการลงทุนและการกู้ยืมนอกระบบ (shadow banking) จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมากน้อยขนาดไหน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ