"เราได้ต่อว่าอินโดนีเซีย ว่าการให้ข่าวลักษณะนี้ทำให้รัฐบาลไทยเสียหาย เพราะการขายข้าวนั้น ไทยขายในราคาตลาดเหมือนที่อินเดียขาย อย่างไรก็ตาม ถ้าภาคเอกชนไทยเสนอขายราคาต่ำ ตามกลไกขององค์การค้าโลก (WTO) อินโดนีเซียก็สามารถใช้มาตรการตอบโต้ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือมาตรการเซฟการ์ด เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในได้อยู่แล้ว" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่อินโดนีเซีย ติดต่อกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ให้ข่าวดังกล่าวที่สร้างความเสียหายกับไทย เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวด้วยว่า สมาชิกอาเซียนได้สอบถามถึงปัญหาการเมืองในไทยจะกระทบต่ออาเซียน และการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)หรือไม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจว่า ขณะนี้สถานการณ์ไม่ได้รุนแรง และไม่มีผลกระทบต่อ AEC อย่างแน่นอน ส่วนในด้านการค้า การลงทุน อาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นบ้าง แต่น่าจะเป็นในระยะสั้นเท่านั้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังถือโอกาสชี้แจงให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าจากไทย เพราะผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยยังสามารถผลิต และส่งออกสินค้าได้ตามปกติ และส่งมอบได้ทันตามกำหนดแน่นอน
สำหรับปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลผลิตต่อข้าวนาปรังปี 57 นั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังสำรวจผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ต้องรอดูความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะออกมา หลังจากสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี(รอบแรก) ปี 56/57 ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา