อีสานโพล เผยนักเศรษฐศาสตร์คาด กนง.คงดบ.-จีดีพี Q1/57 โตต่ำกว่า 1% ทั้งปี 1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 6, 2014 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจโครงการอีค่อนโพล (Econ Poll) เรื่อง "ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2557" ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 12 มี.ค.57 เกี่ยวกับมติการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอัตราปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% ผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.8 ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% รองลงมาร้อยละ 32.1 ประเมินว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ 2.00% ขณะที่ร้อยละ 9.4 คาดว่า กนง. อาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 2.50% เพื่อคุมเงินเฟ้อ และที่เหลือร้อยละ 5.7 ประเมินว่าอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ 1.50-1.75% สรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 62.2 เชื่อว่า กนง.จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้

และเมื่อสอบถามว่าหากท่านเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 12 มีนาคม 2557 ท่านจะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เท่าใด กลุ่มตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.4 จะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% รองลงมาร้อยละ 37.7 จะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยที่ 2.00% ร้อยละ 9.4 จะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% และร้อยละ 7.6 จะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50-1.75% และร้อยละ 1.9 จะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยที่ 2.75% สรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 54.7 ยังไม่อยากให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้

โดยกลุ่มตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่อยากให้ปรับดอกเบี้ยลง เพราะอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้การปรับลดดอกเบี้ยอาจไม่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในช่วงที่มีปัญหาการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปัญหาการไหลออกของเงินทุนและค่าเงินผันผวน รวมไปถึงการออมของครัวเรือนที่อาจลดลงและการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน สำหรับกลุ่มที่ต้องการให้ปรับลดดอกเบี้ยลงมองว่า เศรษฐกิจซบเซา นโยบายการคลังที่ไม่สามารถนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ได้ ดังนั้นนโยบายการเงินจึงเป็นเครื่องมือหลักอันเดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

สำหรับการประเมินดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2557 ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 38.5 ประเมินดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ที่ 1,300-1,349 จุด ร้อยละ 26.9 ประเมินดัชนีฯ อยู่ที่ 1,250-1,299 จุด ร้อยละ 11.5 ประเมินดัชนีฯ อยู่ที่ 1,200-1,249 จุด ร้อยละ 11.5 ประเมินดัชนีฯ อยู่ที่ 1,350-1,399 จุด ร้อยละ 7.7 ประเมินดัชนีฯ อยู่ที่ 1,150-1,199 จุด และร้อยละ 3.8 ประเมินดัชนีฯ อยู่ที่ 1,400-1,449 จุด สรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 84.7 เชื่อว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2557 SET Index จะไม่สามารถผ่านและยืนเหนือแนวต้านที่ 1,350 จุดได้

เมื่อถามความเห็นต่อสถานการณ์ราคาทองคำแท่ง 96.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2557 โดยให้ประเมินราคาเฉลี่ยรับซื้อและขายออก ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 70.6 ประเมินราคาเฉลี่ยจะไม่เกินบาทละ 20,500 บาท มีเพียงร้อยละ 29.4 ที่เชื่อว่าราคาเฉลี่ยจะสูงกว่าบาทละ 20,500 บาท ทั้งนี้มีถึงร้อยละ 19.6 ที่เชื่อว่าทองอาจล่วงไปแตะบาทละ 20,000 บาท

สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2557 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.5 ประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2557 เทียบกับไตรมาสที่ 1/2556 จะขยายตัวต่ำกว่า 1% ซึ่งหมายความว่าหากเทียบกับเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2556 (QoQ) เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะมีการขยายตัวที่ติดลบ ทั้งมีถึงร้อยละ 19.2 กังวลว่าเศรษฐกิจจะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว (YoY)

ไตรมาสที่ 2/2557 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ59.6 ประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2557 เทียบกับไตรมาสที่ 2/2556 จะขยายตัวได้มากกว่า 1% ขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 9.6 เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่า 2.5% ขึ้นไป และตลอดปี 2557 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 90 ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้ จะขยายตัวได้มากกว่า 1.5% ขึ้นไป อย่างไรก็ตามมีเพียงร้อยละ 8.0 เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2557 จะขยายตัวได้มากกว่า 3.0% ขึ้นไป

นอกจากนี้ Econ Poll ยังได้สอบถามว่า ปัญหาการเมืองต้องจบให้ได้ภายในเดือนใด เศรษฐกิจไทยปี 57 (ทั้งปี) จึงจะไม่มีการขยายตัวติดลบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.0 เห็นว่าปัญหาการเมืองต้องจบให้ได้ภายในไตรมาส 2 หรือเดือนมิถุนายน เศรษฐกิจปี 57 จึงจะไม่มีการขยายตัวติดลบ และหากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนกรกฎาคมโอกาสที่เศรษฐกิจจะติดลบก็ยิ่งมีสูงเนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 อาจสะดุดได้และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ จากนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ 53 คนจากสถาบันอุดมศึกษา ร้อยละ 49.1 รองลงมาร้อยละ 20.8 จากหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 13.2 จากหน่วยงานเอกชน ร้อยละ 9.4 จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 5.7 จากหน่วยงานรูปแบบอื่นๆ และร้อยละ 1.9 ไม่มีสังกัดหรืออิสระ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-5 มี.ค. 2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ