ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดกนง.รอบนี้ให้น้ำหนักคงดอกเบี้ย เก็บทางเลือกไว้ครั้งหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 10, 2014 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบที่ 2 ของปี ในวันที่ 12 มี.ค.57 เป็นอีกรอบการประชุมที่ กนง.เผชิญความยากลำบากในการตัดสินใจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่กลับเข้าสู่กลไกการทำงานปกติ และกำลังเผชิญกับโจทย์หลากหลายด้าน ซึ่งแต่ละโจทย์ก็สะท้อนความต้องการลักษณะการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากนโยบายการเงิน (อันเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้) ในขอบเขตและทิศทางที่ต่างกัน ในขณะที่ปัญหาความสมดุลทางเศรษฐกิจดังกล่าว ก็กลับมีผลจำกัดประสิทธิผลเชิงนโยบายการเงินไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น การตัดสินใจของคณะกรรมการ กนง.คงจะแสดงการชั่งน้ำหนักปัจจัยแวดล้อมเชิงนโยบาย ทั้งด้านที่สนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ย และเลือกคงอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างก้ำกึ่งกัน ขณะที่เหตุผลที่นำเข้าสู่การพิจารณาน่าจะสะท้อนถึงตัวแปรความเสี่ยงเศรษฐกิจที่คณะกรรมการนโยบายการเงินแต่ละท่านให้น้ำหนักในระยะถัดไปด้วย

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยรอบด้านที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความก่ำกึ่งมากต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ในรอบนี้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าภายใต้สถานการณ์ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจกำลังสูญเสียแรงส่ง การใช้นโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจนั้นมีความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ของการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องอาศัยประสิทธิภาพในการส่งผ่านนโยบาย รวมถึงประเด็นความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของระบบการเงิน/กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โอกาสที่ กนง.อาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนยังมีน้ำหนักมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อย

"การสงวนช่องว่างในการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ในยามที่จำเป็น ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ กนง.อาจพิจารณาในการประชุมรอบที่ 2 ของปีนี้ในวันที่ 12 มี.ค.57 ก็เป็นได้ ขณะที่ กนง.คงต้องติดตามเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองต่างๆ ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อประเมินโอกาสการจัดตั้งรัฐบาลและเปิดประชุมสภาครั้งแรก รวมถึงข้อมูลด้านการส่งออกซึ่งเป็นความคาดหวังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระหว่างรอความชัดเจนทางการเมือง" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ทั้งนี้ มีหลายเงื่อนไขที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ 1.คำถามด้านประสิทธิผลของการส่งผ่านนโยบายไปยังภาคเศรษฐกิจจริง โดยท่ามกลางกลไกทางเศรษฐกิจและการเงินที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากภาคเศรษฐกิจจริง เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคธุรกิจยังคงลังเลที่จะมีการขยายการลงทุนและผู้บริโภคยังคงระมัดระวังด้านการใช้จ่าย

2.สถานการณ์ของเงินเฟ้อที่เริ่มมีแรงกดดันต่อการเร่งตัวในระยะข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของค่าเงินบาท สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของไทยอันอาจกระทบต่อทิศทางราคาสินค้าเกษตรหลัก รวมทั้งความผันผวนในขาขึ้นของราคาน้ำมันโลกและไทย ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ประเทศยูเครนที่มีความเสี่ยงที่จะบานปลายออกไป และการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของทางการไทย อันล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ช่องว่าง/พื้นที่ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของ กนง.เผชิญกับข้อจำกัด

ทั้งนี้ การเร่งใช้นโยบายการเงินในช่วงที่สภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการส่งผ่านของนโยบายอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยงที่มากขึ้น จากช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงินที่ลดลง หากพัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

3. การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม มีต้นทุนต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อาจทวีความกังวลมากขึ้นภายใต้กรณีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นการสะสมความเปราะบางของพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้ง ความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ผ่านแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อการปรับลดการถือครองพันธบัตรไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต้นทุนทางการเงินในระยะข้างหน้าของภาคเอกชนให้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรไทยกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความน่าดึงดูดที่ลดลง รวมถึงลดทอนประสิทธิผลในการส่งผ่านเชิงนโยบายการเงินต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ยังเผชิญความเสี่ยงต่อการชะลอตัวอยู่มาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 57 โดยในช่วงที่เหลือของเดือนมี.ค.ต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย.57 ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งคงมีผลในการกำหนดระยะเวลาและความสำเร็จของการจัดตั้งรัฐบาลและเปิดประชุมสภาครั้งแรก อันเป็นฟันเฟืองหลักที่จะเร่งการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐในปีงบประมาณปัจจุบัน รวมถึงพิจารณางบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 58 ด้วย

ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอความชัดเจนของเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ดังกล่าวนั้น คาดว่ากิจกรรมการใช้จ่ายในประเทศ คงจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจนมีผลในการดึงตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/57 ที่จะประกาศในเดือนพ.ค.ให้มีโอกาสหดตัวลงจากปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ที่การเมืองอยู่ในช่วงชะงักงัน ส่งผลให้แรงส่งจากมาตรการด้านการคลังเป็นไปอย่างจำกัด และไม่สามารถที่จะทำหน้าที่กระตุ้นโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

ขณะที่ ความคาดหวังจากแรงหนุนของภาคการส่งออกในระยะนี้อาจเป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาทิ การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่อาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอความร้อนแรงลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ