การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของ Fitch ในครั้งนี้ สะท้อนปัจจัยต่างๆ ดังนี้ ประเทศไทยมีสถานะภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งและกรอบนโยบายทางการเงินที่มั่นคงในขณะเดียวกันตัวชี้วัดหลักด้านการคลังภาครัฐอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ปัจจัยที่แข็งแกร่งเหล่านี้ได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากการลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐและความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศที่ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2556
อย่างไรก็ดี แนวโน้มด้านการเมืองในระยะใกล้ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้นอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจยาวนานขึ้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาด ซึ่งในที่สุดอาจจะสร้างแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
ในปี 2556 ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเปรียบเทียบ ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ความไม่สงบทางการเมืองกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดย Fitch คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของไทยจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 และ 3.7 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2556 และอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 5 ปี ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ 3.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในที่สุดอาจจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในทางกลับกัน มาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับความน่าเชื่อถือของไทย
ภาคการคลังของไทยเกือบทั้งหมดยังคงมีเสถียรภาพ โดยสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 31.9 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2556 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ที่อยู่ที่ร้อยละ 40 และ 53 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง Fitch เห็นว่า ในระยะสั้นนี้ ความผันผวนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นได้จำกัดอำนาจรัฐบาลรักษาการในการดำเนินการตามแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ซึ่งจะหักกลบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่อาจลดลง รวมถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้และรายจ่าย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจทำให้ความน่าเชื่อถืออ่อนแอลงหากประเทศไทยไม่สามารถผลักดันมาตการและการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตได้สำเร็จ
Fitch ประมาณการฐานะการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิของไทยไว้ที่ร้อยละ 38 ของ GDP ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -11 และ 18 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิที่เข้มแข็งได้ช่วยลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศหรือภาวะความเสี่ยงของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
Fitch เชื่อว่า ภาคธนาคารของประเทศไทยแข็งแรงเพียงพอที่จะเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยากลำบากขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินเชื่อภาคเอกชนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 151.7 ในไตรมาส 3 ของปี 2556 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และนับเป็นจุดอ่อนของความน่าเชื่อถือของประเทศ เนื่องจากรัฐอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาระผูกพันที่อาจจะก่อให้เกิดหนี้ในอนาคตขึ้นหากต้องให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธนาคารในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจนลดความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน
แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยได้รับการยืนยันในระดับที่มีเสถียรภาพ ดังนั้น ในการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของอันดับความน่าเชื่อถือของ Fitch จึงไม่ได้คาดว่าจะมีพัฒนาการของเหตุการณ์สำคัญที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือในระยะนี้ ทั้งนี้ Fitch ได้ชี้แจงปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับเพิ่ม/ลดอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคต ดังนี้ พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลในเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ การขาดรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารงานอย่างแท้จริงจนก่อให้เกิดความอ่อนแอในการกำหนดกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจ, ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจตึงเครียดและยืดเยื้อยาวนานขึ้นจนบั่นทอนแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลาง, การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของระดับหนี้สาธารณะของไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของภาระผูกพันที่อาจก่อให้เกิดหนี้ในอนาคต
ขณะที่พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลในเชิงบวกต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยไม่ก่อเกิดความไม่สมดุลในด้านต่างๆ ขึ้น รวมถึงการลดช่องว่างทางด้านรายได้ให้เข้าสู่ระดับเดียวกับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A อาจส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ และ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เข้าสู่เสถียรภาพได้รวดเร็วกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้