เนื่องจากตัวเลขการบริโภคภายในประเทศชะลอของปี 2556 ที่ผ่านมา ชะลอตัวลงจากปี 2555 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7 เหลือขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 และหดตัวในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่ร้อยละ 0.7 และ -2.3 ตามลำดับ ตลอดจนการใช้จ่ายภาครัฐก็หดตัวลงเหลือร้อยละ 0.1 ในไตรมาส 4 ปีก่อน และรัฐบาลในปัจจุบันก็เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้คล่องตัวมากนัก ส่งผลให้เครื่องมือเศรษฐกิจด้านการคลังถูกจำกัด
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากครึ่งปีหลังปี 2556 โดยมีอัตราการขยายในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นภาคเศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากภาคการเมืองไม่รุนแรงมากนัก ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่ในปี 2556 ยังขยายตัวได้สูงถึง ร้อยละ 19.6 และคาดว่าในปีนี้จะยังขยายตัวได้หากการเมืองไม่มีความรุนแรง
“แม้ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัว แต่เศรษฐกิจไทยในอนาคตมีแนวโน้มชะลอตัวลงที่ชัดเจนจากผลกระทบด้านการเมืองและข้อจำกัดของรัฐบาลรักษาการ ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่ต้องหยุดดำเนินการตามศาลสั่งและ พรบ.เงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้าน ที่อยู่ในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้"นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน จึงเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้ เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงไปมากนัก และหากในระยะยาว สถานการณ์การเมืองยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยต้องหดตัวลงเป็นระยะเวลายาวนาน รวมทั้งอาจสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้