นายกฯโพสต์ FB น่าเสียดายหากพ.ร.บ. 2 ล้านลบ.สะดุด ชี้จะเป็นจุดอ่อนปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 12, 2014 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระบุเนื้อหาว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่อนำประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่า เพราะการพัฒนาในครั้งนี้จะสามารถกระจายความเจริญ สร้างงาน สร้างโอกาส ระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาและเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หากโครงการนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปก็คงเป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยจะต้องเสียโอกาสท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีการลงทุนที่ลดลงมาก คิดเป็นเพียงร้อยละ 20-23 ของ GDP ขณะที่ช่วงก่อนปี พ.ศ.2540 เรามีการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 35-42 ของ GDP ซึ่งการลงทุนที่ต่ำนี้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ล่าสุด จะเห็นได้ว่าสถาบัน World Economic Forum(WEF) ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประจำปี 2556 อยู่อันดับที่ 37 ซึ่งต่ำกว่าอันดับของประเทศสิงคโปร์ที่อยู่อันดับที่ 2 และมาเลเซียอยู่อันดับที่ 24 โดยประเทศไทยมีจุดอ่อนอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งแข่งขันไม่ได้กับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

ดังนั้นรัฐบาลจึงได้วางแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

(1) ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า (Modal Shift & Multimodal)

(2) ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (Connectivity) และ

(3) ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว (Mobility)

ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย โดยที่กระทรวงการคลังประเมินว่าจะส่งทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง(Real GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในช่วง 7 ปีข้างหน้าอีกร้อยละ 1.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนตำแหน่ง และไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 (ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ประมาณร้อยละ 15.2) และจะประหยัดการใช้น้ำมันกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

ตลอดจนลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองภูมิภาค ตามแนวสายทางรถไฟความเร็วสูงภายในรัศมี 300 กิโลเมตรรอบกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาไม่เกิน 90 นาที จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง

สำหรับในปี 2557 หากเราได้เริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในเวลาประมาณ 7 ปี จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวในเวลานี้จากภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหากมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2557 และอัตราขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายทศวรรษ

"อย่างไรก็ตาม เรามาติดตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …ในวันพุธที่ 12 มีนาคม 2557 ว่าจะเป็นไปอย่างที่ควรหรือไม่ต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ