กรณีนี้คาดว่าน่าจะเตรียมการยัดไส้ข้าว คือ นำเอาข้าวใหม่ออกไปขายแล้วนำข้าวเก่ามาใส่คืน ขณะเดียวกันนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงข้าวหายที่ จ.บุรีรัมย์แล้ว โดยมีผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นอกจากนี้ ยังได้ส่งคดีไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่งหากพบว่า ลักทรัพย์จริงจะต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย แต่ระหว่างนี้ อคส.ได้สั่งย้ายหัวหน้าคลังสินค้าออกจากพื้นที่แล้ว อีกทั้งยังได้ส่งปปง.ตรวจสอบอีก 2-3 คดี เช่น มันสำปะหลังของรัฐหายที่จ.สระบุรี
อย่างไรก็ดี แม้ทางการได้จัดทำระบบป้องกันการทุจริตอย่างดีแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล เพราะกรณีข้าวในโกดังกลางที่รัฐฝากเก็บนั้น มีผู้ถือกุญแจโกดัง 3 คนคือ หัวหน้าคลัง, ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว(เซอร์เวเยอร์) และตัวแทนจังหวัด ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้ไม่สมรู้ร่วมคิดกันก็ไม่น่าจะสามารถนำข้าวออกจากโกดังได้
สำหรับการตรวจโครงการรับจำนำข้าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแตวันที่ 17 มี.ค.57 โดยตรวจโรงสี 800 แห่ง โกดัง และคลังกลางเก็บข้าวสารทั่วประเทศอีก 1,700 แห่ง ซึ่งโรงสีจะตรวจว่ารับข้าวที่ชาวนามาจำนำเท่าไร สีแปรสภาพเป็นข้าวสารและส่งมอบแล้วเท่าไร เหลือที่ยังไม่สีแปรเท่าไร ส่วนโกดังและคลังกลาง จะตรวจสอบปริมาณและคุณภาพ โดยตั้งเป้าตรวจให้แล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ วันที่ 19 มี.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดประมูลข้าวผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(AFET) จำนวน 244,000 ตัน ที่มีเหตุต้องยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่กลุ่ม กปปส.ตัดไฟที่กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ วันที่ 26 มี.ค.จะเปิดประมูลล็อตใหม่อีกราว 200,000 ตัน ขณะเดียวกันกรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูลข้าวสารของรัฐบาลในต่างจังหวัด โดยอาจเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาสัปดาห์หน้า