ประกอบกับในเดือนมี.ค.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเข้าสู่สต๊อกอีก 190,000 ตัน จึงทำให้มีปริมาณเพียงพอทั้งต่อการผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด และนำไปใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล บี4
"ขณะนี้ สต๊อกน้ำมันปาล์มอยู่ในขั้นวิกฤติ ลดลงเหลือประมาณ 130,000 ตัน จึงเริ่มตึงตัวจากปกติที่ต้องใช้เดือนละ 170,000 ตัน ทั้งใช้เพื่อบริโภค และทำไบโอดีเซล บี4 แต่นับจากเดือนนี้เป็นต้นไปผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาด และได้น้ำมันปาล์มดิบสูงถึง 190,000 ตัน ทำให้สต๊อกกลับมาเป็นปกติ ปัญหาตึงตัวก็จะคลี่คลายลง และหากน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มมากขึ้นก็จะเสนอให้กระทรวงพลังงานกลับไปใช้บี 7 ได้ต่อไป" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
พร้อมระบุว่า กรมการค้าภายในจะไม่มีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ เพราะเห็นว่าสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบในประเทศขณะนี้ไม่ได้ขาดแคลน โดยล่าสุด น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 31 บาท/กก. จากราคาเมื่อต้นปีที่ 33-35 บาท/กก. ขณะที่ราคาตลาดมาเลเซีย 29 บาท/กก. ส่วนผลปาล์มสดเฉลี่ย 5.30-5.50 บาท/กก. จากเดิมที่ 5.80-6.10 บาท/กก.
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้าว่า ล่าสุดผู้ผลิตสินค้ายาปราบศัตรูพืช และนมผง ได้แจ้งขอปรับขึ้นราคาโดยให้เหตุผลว่าต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น แต่กรมการค้าภายในไม่ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะกรณีของนมผงที่ได้แจ้งเหตุผลในการขอปรับขึ้นราคาว่าเป็นเพราะการนำเข้านมผงจากนิวซีแลนด์ ซึ่งไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) เสียภาษีนำเข้าในอัตราต่ำนั้นไม่สามารถนำเข้ามาในขณะนี้ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย จึงต้องหันไปนำเข้าจากเดนมาร์กที่ไม่ได้ทำ FTA ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น
"ทางกรมฯ ได้ยืนยันให้ผู้ผลิตตั้งราคาเป็นสินค้าใหม่ และราคาใหม่ เพราะวัตถุดิบต่างจากเดิม ราคาที่ขอสูงกว่าเดิม และจะต้องระบุข้างกล่องด้วยว่าใช้วัตถุดิบจากใด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีที่ว่าหากต่อไปสามารถนำเข้านมผงจากนิวซีแลนด์ได้ ผู้ผลิตก็จะไม่ปรับราคาลง" นายสมชาติ กล่าว