หอการค้าไทยประเมินศก.ไทยเสียหายนับแสนลบ. จากพิษการเมือง-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 18, 2014 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเสียหายแล้วประมาณ 100,000 ล้านบาท หากต้องการจะยุติปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายคือรัฐบาลและผู้ชุมนุมจะต้องเดินหน้าเจรจาเพื่อหาทางออกกันอีกครั้งโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไข เพราะหากปล่อยให้ยืดเยื้อออกไปจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57

หอการค้าไทยประเมินว่า ถ้าปัญหาการเมืองไม่รุนแรงและสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2-3% จากปีก่อน แต่ถ้าตั้งไม่ได้และเกิดเหตุรุนแรง เศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวจากปีก่อน หรือโต 0% จนถึงติดลบ 2% ซึ่งภาคเอกชนยังมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 2-3% ยังเป็นไปได้ ถ้าเงื่อนไขต่างๆ ได้ข้อยุติ

นายอิสระ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยทัวร์จากต่างประเทศถูกยกเลิกจำนวนมาก โดยเฉพาะจีนยกเลิก 50% ญี่ปุ่น 40% และเกาหลี 30% รวมถึงทัวร์จากอินเดีย ไต้หวัน และเวียดนาม จนกระทบต่อเนื่องมาถึงธุรกิจโรงแรม ทำให้ยอดจองห้องพักลดลงเฉลี่ย 25-30%

นอกจากนี้ ยังกระทบต่อเนื่องไปถึงธุรกิจอื่นๆ เช่น อัญมณียอดขายลดลง 30% สปา รถเช่า สินค้าที่ระลึก การจัดงานประชุมสัมมนาภายในประเทศด้วย สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น อสังหาริมทรัพย์ แม้รายใหญ่จะยังขายได้ แต่รายกลางและเล็ก ได้รับผลกระทบจากการชะลอการซื้อของผู้บริโภค และเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ 5-10% ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ลดลง 15% จากการลดเที่ยวบินของสายการบิน

สำหรับด้านการลงทุนนั้น ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ได้ ทำให้มีโครงการที่รอการอนุมัติเป็นมูลค่า 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างชาติบางรายไม่สามารถรอความชัดเจนสถานการณ์ทางการเมืองในไทยได้ จึงย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน ทั้งในส่วนของนักลงทุนยุโรป และนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการส่งออกของไทยในปี 57 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายขยายตัว 5% จะยังคงทำได้ เพราะเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าโดยรวมปรับตัวดีขึ้น สินค้าหลายประเภทมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาแล้ว แต่เพื่อเป็นการผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนจะผลักดันให้ผู้ประกอบการและภาครัฐเน้นการส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งช่วยดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ