การประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลครั้งนี้ แบ่งเป็น ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 55/56 และปีการผลิต 56/57 กว่า 164,000 ตัน ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปีการผลิต 55/56 และปีการผลิต 56/57 กว่า 80,375 ตัน
สำหรับการประมูลวันนี้ มีผู้ยื่นซองเสนอราคาทั้งสิ้น 7 ราย ได้แก่ บริษัท ข้าวเจริญ จำกัด,บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด, บริษัท คงเดชธัญญกิจ 2516 จำกัด, บริษัท แคปปิตอลซีเรียล จำกัด, บริษัท ไทยณรงค์กุดจิก จำกัด, บริษัท โรงสีอรุณพัฒนา และห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีทรัพย์แสงทอง 2550
ด้านนายศักดิ์ดา ทองปลาด รักษาการผู้จัดการ AFET กล่าวว่า มีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา 7 ราย น้อยกว่าครั้งก่อน ที่มี 17 ราย เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดระบายข้าวต่อเนื่อง ทำให้ผู้ค้าข้าว สามารถซื้อข้าวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการเสนอซื้อทั้งสิ้น 105,522 ตัน แบ่งเป็นเสนอซื้อข้าวขาว 5% ปริมาณ 103,522 ตัน และข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 2,000 ตัน
"ราคาที่มีการเสนอส่วนต่างครั้งนี้ ไม่ได้ต่ำมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แม้รัฐจะระบายข้าวในสต๊อกอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาข้าวโลกไม่ได้ลดลงมาก เนื่องจากไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน อินเดีย ที่เคยระบายออกจากสต๊อกมากในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มเก็บสต๊อกข้าวแล้ว คาดว่าแนวโน้มราคาข้าวจะไม่ลดต่ำลงมากกว่านี้"
ตามแผนกระทรวงพาณิชย์ต้องขายข้าวผ่าน AFET ปริมาณ 1 ล้านตัน มีสัดส่วนข้าวหอมมะลิ 60% และข้าวขาว 40% คาดจะคืนเงินได้ไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท แต่ล่าสุด จากการขายข้าวแล้ว 5 ครั้ง ปริมาณ 400,000 ตัน สัญญาส่งมอบเดือนถึงเดือนมิ.ย.นี้ และมีสัดส่วนการขายข้าวขาว 60% ข้าวหอมมะลิ 40% จึงทำให้ส่งเงินคืนคลังได้เพียง 4,800 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปริมาณข้าวที่ขายได้อีก 600,000 ตัน โดยมีระยะเวลาส่งมอบภายใน 3 เดือน หรือส่งมอบภายในเดือนก.ค., เดือนส.ค. และเดือนก.ย. คาดว่า ในช่วงนั้นหากขายข้าวหอมมะลิได้ในปริมาณมากกว่าข้าวขาว น่าจะมีเงินส่งคืนคลังใกล้เคียงกับเป้าหมาย เพราะในช่วงดังกล่าว ไม่มีข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาด และความต้องการมีมาก น่าจะขายข้าวหอมมะลิได้ในราคาดี ซึ่งในวันที่ 26 มี.ค.นี้ จะเปิดประมูลขายข้าวใน AFET อีกราว 200,000 ตัน