(เพิ่มเติม) KBANK คาดบาทอ่อนค่า 33.50 ช่วง Q2/57-ลงทุนยังชะลอหลังการเมืองไม่นิ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 19, 2014 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวในงานสัมมนา "แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย"ว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทยอยจ่ายเงินปันผล ซึ่งมีผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนต่างประเทศ โดยรวมแล้วคาดว่าจะต้องมีการจ่ายเงินปันผลประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงจะส่งผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยและมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าได้ในช่วงดังกล่าว

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทย มองว่าประเด็นการเมืองที่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ขณะนี้ได้ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาค Real sector โดยเฉพาะแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งทำให้ภาคเอกชนต่างรอดูสถานการณ์การเมืองไทยให้นิ่ง ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้แนวโน้มการลงทุนไม่สดใส

นอกจากนี้ ยังมองว่าสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ มีโอกาสที่จะพิจารณาปรับลดเครดิตของประเทศไทยลง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ซึ่งในจุดนี้จะมีผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของไทยในอนาคต และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น และอาจทำให้ไทยยังไม่มีรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก

ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระทางด้านเศรษฐกิจ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 2.5-3% เนื่องจากการมีรัฐบาลรักษาการที่ถือว่าเป็นสูญญากาศทางการเมืองส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐชะลอตัวจนถึงขั้นติดลบ จากปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อและไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่มองว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 5-6% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทที่ 32 บาท/ดอลลาร์ ตามเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นทั้งสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% สหภาพยุโรปขยายตัวได้ประมาณ 1% ญี่ปุ่นขยายตัว 1.5% และจีนขยายตัวได้ 7.5%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความเสี่ยงสำคัญ คือ หากปีนี้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ไม่ถึง 7% จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาทั้งอาเซียนไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยผลกระทบจะมีต่อทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนของไทย

"หากเศรษฐกิจจีนโตได้ต่ำกว่า 7% ผลกระทบก็จะตามมาเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เราพึ่งพาจีนถึง 12%...หากเศรษฐกิจโตช้าก็จะมีผลต่อทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของทั้งอาเซียน แต่ ณ ตอนนี้จีนยังโอเคอยู่ แต่ก็อย่ามองโลกแง่ดีเกินไป ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง" นายสมชาย กล่าว

ส่วนที่รัฐบาลประกาศยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกลับไปใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้น ส่งผลดีในแง่จิตวิทยาที่ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับขึ้นมาได้

พร้อมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งดำเนินการ คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งการใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% นั้นเป็นการช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้กลับมาลงทุน เพราะสิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนคือการเมืองที่ต้องมีเสถียรภาพ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า นายสมชาย มองว่า จะได้รับผลกระทบจากการจัดทำงบประมาณปี 2558 ที่ล่าช้า ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาจนถึงปัจจุบันก็เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 4% เท่านั้น ถือว่าต่ำสุดในอาเซียน รวมทั้งไม่มีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขาดการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช้สิทธิประโยชน์จากการเข้าร่วมใน AFTA ให้เต็มที่เท่าที่ควร ดังนั้น หากไทยต้องการแข่งขันได้ในอนาคตจะต้องปรับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และนวัตกรรม รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในแต่ละปีอย่างเหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ