ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทย มองว่าประเด็นการเมืองที่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ขณะนี้ได้ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาค Real sector โดยเฉพาะแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งทำให้ภาคเอกชนต่างรอดูสถานการณ์การเมืองไทยให้นิ่ง ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้แนวโน้มการลงทุนไม่สดใส
นอกจากนี้ ยังมองว่าสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ มีโอกาสที่จะพิจารณาปรับลดเครดิตของประเทศไทยลง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ซึ่งในจุดนี้จะมีผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของไทยในอนาคต และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น และอาจทำให้ไทยยังไม่มีรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก
ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระทางด้านเศรษฐกิจ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 2.5-3% เนื่องจากการมีรัฐบาลรักษาการที่ถือว่าเป็นสูญญากาศทางการเมืองส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐชะลอตัวจนถึงขั้นติดลบ จากปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อและไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่มองว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 5-6% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทที่ 32 บาท/ดอลลาร์ ตามเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นทั้งสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% สหภาพยุโรปขยายตัวได้ประมาณ 1% ญี่ปุ่นขยายตัว 1.5% และจีนขยายตัวได้ 7.5%
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความเสี่ยงสำคัญ คือ หากปีนี้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ไม่ถึง 7% จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาทั้งอาเซียนไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยผลกระทบจะมีต่อทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนของไทย
"หากเศรษฐกิจจีนโตได้ต่ำกว่า 7% ผลกระทบก็จะตามมาเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เราพึ่งพาจีนถึง 12%...หากเศรษฐกิจโตช้าก็จะมีผลต่อทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของทั้งอาเซียน แต่ ณ ตอนนี้จีนยังโอเคอยู่ แต่ก็อย่ามองโลกแง่ดีเกินไป ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง" นายสมชาย กล่าว
ส่วนที่รัฐบาลประกาศยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกลับไปใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้น ส่งผลดีในแง่จิตวิทยาที่ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับขึ้นมาได้
พร้อมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งดำเนินการ คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งการใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% นั้นเป็นการช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้กลับมาลงทุน เพราะสิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนคือการเมืองที่ต้องมีเสถียรภาพ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า นายสมชาย มองว่า จะได้รับผลกระทบจากการจัดทำงบประมาณปี 2558 ที่ล่าช้า ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาจนถึงปัจจุบันก็เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 4% เท่านั้น ถือว่าต่ำสุดในอาเซียน รวมทั้งไม่มีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขาดการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช้สิทธิประโยชน์จากการเข้าร่วมใน AFTA ให้เต็มที่เท่าที่ควร ดังนั้น หากไทยต้องการแข่งขันได้ในอนาคตจะต้องปรับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และนวัตกรรม รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในแต่ละปีอย่างเหมาะสม
น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส KBANK กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า ขณะนี้ทิศทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ มีพัฒนาการแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น อัตราการจ้างงาน และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับมาอยู่ในระดับสูงช่วงเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินโลก นอกจากนี้ผลประกอบการของภาคเอกชนในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นแรงหนุนให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนได้ในระยะต่อไป ขณะที่ภาครัฐผ่อนคลายการใช้มาตรการรัดเข็มขัดเรื่องค่าใช้จ่าย
ขณะที่เศรษฐกิจของจีนมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออก แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยการบิดเบือนเรื่องฤดูกาล นอกจากนี้ผู้กำหนดนโยบายยังหันไปให้ความสนใจกับการปฏิรูปมากขึ้น เช่น การขยายกรอบการซื้อขายเงินตราให้กว้างขึ้นมาอยู่ที่บวกหรือลบ 2% ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่ตลาดแบบเสรี
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปอาจมีผลให้แรงส่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแผ่วตัวลงบ้าง โดยผู้นำของจีนคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวที่ระดับ 7.5%
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีสัญญาณที่เป็นบวก โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การพัฒนาด้านเงินเฟ้อ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายของกลุ่มสหภาพยุโรปมองว่าอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำในปัจจุบันมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่จะไม่ประสบภาวะเงินฝืดเหมือนญี่ปุ่น ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า สหภาพยุโรปพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำนโยบายการเงินให้ส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงให้มากขึ้น
สิ่งที่ต้องจับตามมองสำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคือ การปรับขึ้นภาษีบริโภคจาก 5% เป็น 8% ในต้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้งหรือไม่
สำหรับประเทศไทยนั้นปัญหาการเมืองที่ยังไม่ได้ข้อยุติส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแนวโน้มการลงทุน จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 2% น่าจะเป็นการปรับลดครั้งสุดท้าย และคงอัตราดอกเบี้ยนี้ไว้จนถึงปลายปี แต่ก็มองเห็นโอกาสที่อาจจะมีการปรับดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้เช่นกัน