นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้ยังสามารถมาใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้เกิดการผลิตและการให้บริการไฟฟ้าที่มีความมั่นคง และเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนในระดับที่เหมาะสม และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพด้วย
ทั้งนี้ ได้ทำการสำรวจความเห็นผู้ใช้ไฟฟ้าจาก กฟน. กฟภ. และกฟผ. จำนวน 6,088 ตัวอย่าง แบ่งผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว
โดยใช้หลักการแนวคิดในการจัดทำแบบสอบถาม 3 วิธี คือ 1.การประเมินความเสียหายโดยตรง(Direct Assessment) เป็นการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสามารถประมาณได้โดยตรงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าดับ เช่น ค่าแรง พนักงาน ค่าความเสียหายจากวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการเริ่มดำเนินการใหม่ และความเสียหายเนื่องจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ 2.การประเมินโดยอ้อม (Indirect Assessment) ประเมินความเสียหายจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความไม่สะดวกสบาย หรือความไม่พึงปรารถนาที่เกิดเนื่องจากไฟฟ้าดับ ซึ่งเป็นการวัดจากความรู้สึกของผู้ตอบเป็นสำคัญ และ 3.เหตุการณ์สมมติ (Contingent Valuation) เป็นการประเมินที่เป็นส่วนเสริมของการประเมินความเสียหายโดยตรงที่อาศัยหลักการของความเต็มใจจ่ายและความเต็มใจที่จะยอมรับ
โดยผลการศึกษาพบว่า อัตราความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับของทั้ง 3 การไฟฟ้า และของทั้งประเทศ ณ ปี 2555 ค่าดัชนีความเสียหายต่อพลังงานเมื่อเกิดไฟฟ้าดับของ กฟภ.อยู่ที่ 86.30 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีค่าสูงกว่า กฟน.ที่มีค่าความเสียหายต่อพลังงานเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ อยู่ที่ 74.96 บาทต่อหน่วย ด้วยเหตุผลหลักของความเสียหายแบบแยกประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับกิจกรรมผู้ใช้ไฟฟ้า ขนาดของกิจการดำเนินงาน และความต้องการปริมาณพลังงานไฟฟ้า สำหรับภาพรวมอัตราความเสียหายทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 82 บาทต่อหน่วย และ 85,609 บาทต่อครั้ง