"ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ซึ่งพบว่ามีความรุนแรงและขยายตัววงกว้างมากขึ้นทำให้พื้นที่การเกษตรพืชสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อน มีไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง"นายยุคล กล่าว
ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ยังเชื่อว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 57 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ก็คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรากรในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน
นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2/57 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพ.ค.57 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตสินค้าเกษตรมากขึ้น
นายอนันต์ ยังกล่าวถึงการเปิดให้บริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรแบบครบวงจร ฤกษ์ดี 24 มีนาคม คิกออฟ "ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร" เพื่อให้บริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญระดับประเทศ โดยศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการข้อมูลอย่างรอบด้านที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร ทั้งข้อมูลด้านองค์กร แผนปฏิบัติงาน ข้อมูลด้านนโยบาย งานวิจัย การติดตามและประเมินผล ตลอดจนข้อมูลด้านราคาสินค้าเกษตร การพยากรณ์ การเตือนภัย การผลิต การตลาด การนำเข้า-ส่งออก ทั้งของพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกร และข้อมูลแผนที่แสดงความเหมาะสมในการผลิต เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจสินค้าเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2557 สศก.จะเร่งขยายพื้นที่ให้บริการของศูนย์ฯ ในครอบคลุมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1-12 ทั่วประเทศ และยังมีแผนดำเนินการที่จะจัดตั้งศูนย์ฯ ในสถานที่ให้บริการของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา(ศกอ.) ซึ่งคาดว่า ปี 2557 นี้จะมีศูนย์ให้บริการของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา 120 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การบริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรเป็นไปอย่างทั่วถึง อันเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเรามีเศรษฐกิจการเกษตร(ศกอ.) จำนวน 549 คน และจะกระจายในทุกจังหวัดของประเทศ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งรูปแบบ และวิธีการจัดเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 คาดว่าจะมี ศกอ.ที่พัฒนาเป็น Smart Farmer เพื่อเผยแพร่ความรู้และข้อมูล สศก.ประมาณ 3,000 คน
"การดำเนินงานของ ศกอ. นอกจากมีบทบาทในด้านการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลของ สศก.แล้ว ยังต้องสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรมาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ด้วย ตลอดจนช่วยเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกรในพื้นที่ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น"เลขาธิการ สศก.กล่าว