(เพิ่มเติม1) สศค.ลดคาดการณ์ GDP ปี 57 เหลือโต 2.6% จากเดิม 4% หลังการเมืองวุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 27, 2014 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.พ.57 โดยปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 57 ลงหลังจากไตรมาส 1/57 รับปัจจัยลบจากผลกระทบสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ โดยมองว่า การส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวจะกลับมาเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้
"จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงแรกของปีได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จากครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้"นายสมชัย กล่าว

สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 – 3.1) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปี 56 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม โดยเฉพาะแผนการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่าขัดรัฐธรรมนูญ และโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งศาลปกครอง และการยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ อันเนื่องมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การส่งออกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และคาดว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557 ให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 57 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 -7.0) ขณะที่การส่งออกบริการแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 – 3.0) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้น อาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น และส่งผ่านแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อในปี 2557

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 -1.7 ของ GDP)

ทั้งนี้ การปรับ GDP ในปีนี้ลงเหลือ 2.6% เป็นผลมาจากปัยจัยเรื่องปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสำคัญ ทั้งนี้เป็นการคาดการณ์อยู่บนพื้นฐานว่าจะมีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่หากในไตรมาส 3 ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ GDP ก็คงโตได้ต่ำกว่า 2.6%

"เราประเมินว่าน่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และมีรัฐสภาเพื่อเข้ามาทำในเรื่องของงบประมาณปี 58 แต่ถ้าไม่มีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยคงโตต่ำกว่า 2.6%" นายสมชัยกล่าว

พร้อมระบุว่า หากมีข้อมูลใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงในทางลบ ทางสศค.ก็จะพิจารณาปรับตัวเลขใหม่อีกครั้ง แต่ในขณะนี้ยังมองว่า GDP ที่ 2.6% เป็นระดับที่สมเหตุสมผลแล้ว และยังไม่เห็นแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะถึงขั้นติดลบ

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง อาทิ การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการปรับลด QE ที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทย แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงไปบ้างจากมาตรการลดความร้อนแรงในการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภัยธรรมชาติและโรคระบาด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรม

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมี 5 ประเด็น คือ 1.การเมืองในประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ขาดเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างมาก 2.การลดขนาด QE ของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศขนาดเล็กหรือตลาดเกิดใหม่ในเรื่องของเงินทุนไหลออกได้ ดังนั้น ธปท.ต้องบริหารจัดการในเรื่อง capital flow เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าเงินในประเทศด้วย

3.ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด 4.ปัญหาภัยแล้งและโรคระบาด เพราะจะมีผลต่อ GDP ในภาคเกษตรได้ และ 5.จับตาสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในกรณีของยูเครนและรัสเซีย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในระยะกลางและระยะยาว คือ หากการเมืองไทยยังคงลากยาว จะส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีโอกาสปรับลด outlook ประเทศไทยภายในปีนี้ ขณะที่ต้นปีหน้าอาจจะลดอันดับเรทติ้งประเทศไทยลงจากปัจจุบันได้

"หากประเทศไทยสามารถมีรัฐบาลใหม่ได้ในช่วงไตรมาส 3 ก็จะได้มาเร่งเกินหน้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58 ซึ่งแม้ว่าอาจจะล่าช้าไป 5-6 เดือนก็ไม่เป็นไร เพราะในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้สิ่งที่พอจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ คือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องอย่าใส่เกียร์ว่าง เร่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามปกติ ส่วนรัฐวิสาหกิจต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตามเป้า ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องเบิกจ่ายงบลงทุนอย่างเต็มศักยภาพเช่นกัน"นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ