ทั้งนี้ ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชหลักเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกในช่วงหน้าแล้ง โดยกว่า 80% ของการปลูกข้าวนาปรังจะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย. ในขณะที่พืชชนิดอื่น เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเพาะปลูกในช่วงหน้าฝนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงหน้าแล้ง โดยจากข้อมูลการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 5 แสนตัน หรือปรับตัวลดลงราว 5% ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง เป็นหลัก โดย อีไอซี มองว่า ผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงไม่น่าจะช่วยพยุงราคาข้าวในตลาดที่กำลังปรับตัวลดลงได้มากนัก เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง
ขณะที่ ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ในไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ไทยประสบกับภาวะภัยแล้งในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ผลผลิตพืชที่สำคัญของไทยปรับตัวลดลง
โดยจากข้อมูลในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี พบว่า ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปรับตัวลดลงราว 24%, 21% 6% และ 1% ตามลำดับ
นอกจากนั้น ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2005 เงินเฟ้อในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5%
SCB EIC ประเมินว่า รายได้เกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ รายได้ของเกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภค ในประเทศ
อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการบริโภคของครัวเรือนในภาคเกษตร (ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ) คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของการบริโภครวมทั้งประเทศ
ขณะที่ ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ตันทุนการผลิต หากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นและผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะมีการลดต้นทุนการผลิตเพื่อที่จะรักษาระดับกำไรไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก ผ่านการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียวัตถุดิบระหว่างการผลิต
ในกรณีที่ภาวะภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่เอื้อต่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลน ตัวอย่างเช่น การปรับลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด จากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีสูงถึง 73% และเสียค่าธรรมเนียมพิเศษอีก 180 บาทต่อตัน ซึ่งการปรับลดดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ยังเป็นการช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศให้ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก
อนึ่ง ล่าสุดมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งแล้ว 30 จังหวัด