เมื่อถามถึงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยว่าภายในปีนี้จะถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดเครดิตของประเทศไทยหรือไม่ ร้อยละ 39.4 เชื่อว่าเครดิตประเทศจะอยู่ในระดับเดิม รองลงมาร้อยละ 31.8 เชื่อว่าเครดิตประเทศจะถูกปรับแนวโน้มจากมีเสถียรภาพ(Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) และร้อยละ 24.2 เชื่อว่าเครดิตประเทศจะถูกปรับลดจากระดับปัจจุบัน
ด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.0 นั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 68.2 เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวคงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง รองลงมาร้อยละ 25.8 คาดว่าไม่น่าจะช่วยได้ มีเพียงร้อยละ 3.0 เท่านั้นที่คาดว่าจะช่วยได้มาก
ส่วนประเด็นรัฐบาลชุดใหม่ควรเดินหน้าโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยวิธีการลงทุนอื่นหรือไม่ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดต่อรัฐธรรมนูญ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 84.8 เห็นด้วยที่จะให้มีการเดินหน้าต่อด้วยวิธีการอื่น มีเพียงร้อยละ 12.1 ที่ ไม่เห็นด้วยและควรจะชะลอแผนการลงทุนออกไปก่อน เมื่อถามต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่หากจะมีการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 63.6 บอกว่าเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 27.3 บอกว่าไม่เห็นด้วย
สุดท้ายเมื่อสอบถามความคิดเห็นในประเด็นที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าวตามเวลาที่กำหนดนั้น รัฐบาลควรจ่ายดอกเบี้ยให้กับชาวนาด้วยหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 75.8 เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับชาวนาด้วย ขณะที่ร้อยละ 13.6 เห็นว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับชาวนา
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 66 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 18 – 25 มีนาคม ที่ผ่านมา