ธปท.เกาะติดเครดิตไทยหลังเสี่ยงถูกปรับลด-มองแรงส่งศก.วูบตามบทบาทภาคการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 28, 2014 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ติดตามความเป็นไปได้ที่ ฟิทช์และมูดี้ส์อาจจะปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ โดยเฉพาะประเด็นจะมีผลกระทบต่อตลาดเงินมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวขึ้นกับการรับรู้ของตลาด เบื้องต้นเห็นว่าตลาดเริ่มรับรู้ไปบ้างแล้ว จากที่ค่าประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตร Credit Default Swap (CDS) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 130 Basis points จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 110 Basis points ซึ่งหากมีการปรับลดเครดิตของไทยลงจริงก็คงยังมีตลาดอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับรู้และมีผลกระทบบ้าง โดยขณะนี้ Credit Default Swap ของไทยสูงว่าประเทศอื่น ทั้งมาเลเซียที่อยู่ในระดับ 105 Basis points และฟิลิปปินส์ 110 Basis points ดังนั้นถ้าถูกปรับลดเครดิตลงจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐและเอกชนเพิ่มสูงขึ้นอีก

ขณะที่ ธปท.ประเมินความเป็นไปได้ในการจัดทำกรอบงบประมาณปี 58 อาจล่าช้ากว่าเดิมที่คาดไว้ ทำให้บทบาทภาคการคลังน้อยลง แม้จะมีการดึงกรอบงบปี 57 มาใช้อ้างอิงในการใช้จ่ายงบประจำไปก่อน แต่การลงทุนใหม่และโครงการต่างๆ อาจจะไม่ได้มีการเบิกจ่ายมากเท่าที่คาดไว้ จึงยอมรับว่าจะทำให้แรงส่งเศรษฐกิจน้อยลง อีกทั้งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีบทบาทลดลงตามไปด้วย

สำหรับกรณีค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ โฆษก ธปท. กล่าวว่า ส่วนหนึ่งสะท้อนการปรับตัวของตลาดโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติลดขนาด QE ลงเหลือ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน แต่ยอมรับว่าเงินบาทบางช่วงอ่อนค่ากว่าสกุลอื่นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยปิดบัญชีและนำเงินกำไรส่งกลับประเทศ จึงทำให้มีเงินไหลออกเงินบาทจึงอ่อนค่าลง แต่มีผลกระทบไม่มาก

ส่วนความกังวลเรื่องหยวนเทรดดิ้ง ไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดโลก และค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ