สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และการไม่มีรัฐบาลกำหนดนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนนั้น ทำให้ความน่าสนใจของประเทศไทยลดลง และต่างชาติที่เคยตั้งฐานการผลิตในไทยได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประกอบกับไทยยังมีปัญหาขาดแรงงานฝีมือ และรัฐบาลขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ จึงทำให้ประเทศอื่นในอาเซียน เร่งพัฒนาตัวเองเพื่อดึงดูดการลงทุนไปจากไทย โดยล่าสุดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ของญี่ปุ่น ย้ายฐานการผลิตไปอินโดนีเซียแล้ว
นายอิสระ เชื่อว่า การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)วันที่ 29 มี.ค.นี้ และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) วันที่ 30 มี.ค.นี้ ไม่น่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น
"เอกชนอยากให้ความขัดแย้งในประเทศจบลงโดยเร็ว อยากให้มีการเจรจาหาข้อยุติ และมองถึงอนาคตประเทศชาติเป็นหลัก เห็นด้วยกับการมีนายกคนกลางมาบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี" นายอิสระ กล่าว
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรหยุดปฏิบัติงาน และเปิดทางให้มีการเจรจา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศภายใน 3 เดือน จากนั้นควรเปิดสภาเพื่อนำสิ่งที่เจรจากันไว้มาแก้ไขผลักดันให้เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ เพราะขณะนี้ยังมองไม่เห็นทางออกว่าวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้จะคลี่คลายลงได้ภายในปี 57 หรือไม่
"มองว่า โอกาสจะมีรัฐบาลใหม่ก็ต้นปี 58 จากนั้นเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 58 ต้องยอมรับว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทย แทบไม่มีอนาคต เพราะการเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้ไม่มีการลงทุนใหม่ ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน และการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ก็ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เคยเข้ามาในไทยเฉลี่ยปีละประมาณ 500,000 ล้านบาทหายไป"
ส่วนนายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า แนวโน้มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจะย้ายฐานผลิต หรือหันไปลงทุนใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้ากับอาเซียน เช่น จีน ยังมีต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่กว่า 20 บริษัท ได้เข้าไปลงทุนในอาเซียนอื่น เช่น กัมพูชา เมียนมาร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เพื่อใช้เป็นฐานผลิตและส่งออก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของบริษัทเหล่านั้นปีละ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 10% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่มห่มไทย สาเหตุที่ย้ายฐานการลงทุน ไม่ใช่ผลกระทบจากปัญหาการเมืองในไทย แต่เป็นเรื่องต้นทุนในไทยแข่งขันยากขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของประเทศในอาเซียน