ส่วนแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่เป็นดาวรุ่งเด่นๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย และสินค้าที่จะมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา
นายชวลิต ยังกล่าวถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรในปี 2556 มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท
สาขาปศุสัตว์ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกรวม 9.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 12.5 % เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่าการส่งออก 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปี 2557 คาดว่าภาพรวมของสาขาปศุสัตว์จะขยายตัวเติบโตขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างใกล้ชิด ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำคัญเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ
ส่วนสาขาประมงในปี 2556 มีปริมาณการส่งออก ประมาณ 8.3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.02 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 7.2 เนื่องจากการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในสถานการณ์ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งลดลงค่อนข้างมากและมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงด้วย
นายชวลิต กล่าวว่า ในวันที่ 1 เม.ย. จะเป็นวันสถาปนากระทรวงเกษตรฯครบรอบปีที่ 122 และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 123 กระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน" พร้อมปรับทิศทางการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์สำคัญในอนาคต
เบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนพัฒนาการเกษตร 4 ด้านหลัก คือ 1.พัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มุ่งยกระดับเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์(Smart Farmer) โดยมีสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) เป็นเพื่อนคู่คิด มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งจากการประเมินพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็น Existing Smart Farmer ซึ่งผ่านคุณสมบัติที่ประเมิน จำนวน 221,884 ราย เป็นเกษตรกรที่ยังไม่ผ่านคุณสมบัติที่ประเมินและต้องพัฒนา จำนวน3,728,271 ราย นอกจากนั้น ยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร และเร่งยกระดับมาตรฐานสหกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งในเวทีการค้าอาเซียนและตลาดโลก
2.พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรให้แข่งขันได้และมีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการทั้งอาหารและพลังงาน พร้อมพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นปรับลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของภาคเกษตร ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) และสนับสนุนการพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคและระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยผลงานประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขยายผลการพัฒนาภาคเกษตรด้วย
"กระทรวงเกษตรฯ มีแผนเร่งขยายผลและสานต่อโครงการสำคัญ ทั้งโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural City) และการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (Food Safety) ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรเป็นมูลค่ากว่าปีละ 1ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์รองรับประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตรที่กำลังขาดแคลน และเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรวนอาเซียนด้วย" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
3.พัฒนาทรัพยากรการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งฟื้นฟูทรัพยากรการเกษตรให้มีความเหมาะสมต่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นขับเคลื่อนและขยายผลการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ(Zoning) รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน มีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มพื้นที่ชลประทานต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 200,000 ไร่ โดยเฉพาะเขตโซนนิ่ง พร้อมเพิ่มบ่อน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทานปีละ 100,000 บ่อ และวางระบบเติมน้ำในแหล่งชุมชนให้สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงแล้งได้
4.ปรับปรุงกลไกการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยจะพัฒนาปรับปรุงระบบงานและทบทวนบทบาทภารกิจให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เป็นองค์กรขนาดเหมาะสมที่ศักยภาพ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มคุณภาพการให้บริการกับประชาชน ตอบสนองนโยบายของประเทศและสร้างประโยชน์โดยตรงให้กับเกษตรกร โดยบูรณาการการทำงานและพัฒนาทั้งในเชิงพื้นที่การจัดการรายสินค้าและบุคลากร ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
"กว่า 122 ปีแล้วที่กระทรวงเกษตรฯ ได้อยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย การปรับแผนขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรทั้ง 4 ด้านดังกล่าว คาดว่า จะพัฒนาภาคเกษตรไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วย" นายชวลิต กล่าว