สำหรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจในปี 2557 นั้น ในกรณีดี หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วภายในเดือนก.ค.57 แม้มองว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าทำได้ก็อาจสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐและกิจกรรมการลงทุนเดินหน้าได้คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น โดยหากการใช้จ่ายของภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวชดเชยกับผลจากความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ได้ ก็อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 2.4%
แต่สำหรับกรณีเลวร้าย หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อจนมีผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในระดับที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งหากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดมาขยายตัวเพียง 3.0% เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ก็อาจขยายตัวได้เพียง 1.3% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 57 ลงมาที่ 1.3-2.4% จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 2.2-3.7%
"จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด ทำให้ภาวะสูญญากาศทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ การเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐ ก็คงทำได้ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และอาจมีกระบวนการที่ล่าช้า ซึ่งส่งผลทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คงเหลือเพียงภาคการส่งออกเป็นหลักเท่านั้น" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ
ความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังภาวะการจ้างงาน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคตามมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศอาจซบเซายาวนานข้ามเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ดังนั้น คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2557 อาจขยายตัวเพียง 0.1% (กรอบคาดการณ์หดตัว 0.2% ถึงขยายตัว 0.6%) จากคาดการณ์เดิมที่ 1.4% ขณะที่การลงทุนโดยรวมในปี 2557 อาจหดตัวลง 2.2% (กรอบคาดการณ์หดตัว 2.7% ถึงหดตัว 1.5%)