(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.เผยกนง.18 มิ.ย.เล็งพิจารณาข้อมูลศก.มี.ค.-เม.ย.ก่อนปรับคาดการณ์ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2014 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวก่อนเข้าชี้แจงเรื่องภาวะเศรษฐกิจไทยต่อคณะกรรมาธิการ การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินว่า ธปท.จะปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงจากปัจจุบันคาดไว้โต 2.7% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่จะเข้ามาใหม่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย.57

แต่จากข้อมูลล่าสุดเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ยอมรับว่าอุปสงค์ในประเทศชะลอลงชัดเจน แต่เชื่อว่ายังมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวได้ และการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว หลังรัฐบาลยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วเหตุการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี

ขณะที่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แม้จะชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการเร่งตัวขึ้นสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านั้น ธปท.ยังคงติดตามและเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีความเสี่ยงอาจเกิดปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด

นายประสาร กล่าวว่า ยอมรับมีความเป็นไปได้ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/57 จะถดถอยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่คงต้องติดตามไตรมาส 2/57 ว่าจะติดลบหรือไม่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/57

"ถ้าไม่ติดลบก็ไม่มีปัญหา แต่ถึงแม้จะติดลบก็ต้องดูรายละเอียดว่ามีการจ้างงานและภาคธุรกิจยังดำเนินกิจการต่อไปได้หรือไม่ เพราะถ้าปัจจัยต่างๆ ยังเดินหน้าต่อไปได้ ก็ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวล" นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ได้อยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 56 จนถึงปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 2% ต่อปีตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และแนวโน้มเศรษฐกิจยังเป็นไปในทิศทางที่ลงมากกว่าขึ้น เพราะในอนาคตยังมีความไม่แน่นอน แต่ทั้งนี้นโยบายการเงินไม่สามารถทดแทนนโยบายการคลังในยามที่มีข้อจำกัดได้ทั้งหมด เนื่องจากสาเหตุของการชะลอทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากภาวะการเงินที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

"หากต้องการให้นโยบายการเงินลดดอกเบี้ยลงอีกจากปัจจุบันอยู่ที่ 2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจใช้ไม่ได้ผลในยามนี้ เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากปัญหาภาวะการเงิน ดังนั้นหากขืนใช้ไปอาจเสียกระสุนแล้วไม่ได้ผล"นายประสาร กล่าว

นายประสาร ระบุว่า หากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมาจากปัญหาการเมือง ฝ่ายการเมืองควรเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะถ้าใช้นโยบายการเงินเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และ ธปท.ต้องใช้นโยบายการเงินแบบระมัดระวัง เพราะภาวะการเงินโลกกำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ย หลังยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ดังนั้นนโยบายการเงินต้องเตรียมพร้อม เพื่อดูแลภาวะการไหลออกของเงินทุนที่จะกลับไปลงทุนในสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ